สำหรับปรากฏการณ์ ดาวเคียงเดือนที่มองเห็น ดาวพฤหัสบดีจะมองเห็นอยู่ด้านบนสุดฝั่งทางซ้ายมือ อยู่เหนือดวงจันทร์ 6 องศา และทางขวาอยู่ลดต่ำลงมา คู่กันฝั่งขวามือเป็นดาวศุกร์อยู่ระยะห่างกัน 6 องศา โดยดาวศุกร์อยู่ใกล้ดวงจันทร์ประมาณ 5 องศา และดวงจันทร์วันนั้น เป็นช่วงขึ้น 5 ค่ำ เป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวสวยงามคล้ายกับกำลังยิ้ม
"โดยดาวพฤหัสบดี , ดาวศุกร์ และดวงจันทร์ จะอยู่กลุ่มดาวปู การเคียงกัน และเรียงตัวในลักษณะนี้ คล้ายปรากฏการณ์พระจันทร์ยิ้ม สวยงามบนฟากฟ้า ที่เคยเกิดเมื่อ วันที่ 1 ธ.ค. 51 แต่ครั้งนี้ พระจันทร์จะยิ้มแบบตะแคง และจะเห็นปรากฏการณ์ Earthshine หรือเงาโลกที่สะท้อนบนขอบดวงจันทร์เสี้ยวด้วย"นายวรวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ) ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ขอเชิญทุกท่านที่สนใจชมปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ มาร่วมชม "ดาวเคียงเดือน" ในช่วงหัวค่ำของคืนวันเสาร์ที่ 20 นี้ มาร่วมชมดวงจันทร์ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี ที่จะมาเรียงตัวกันเห็นเป็น "ดวงจันทร์ยิ้มเอียง" ที่สวยงาม พร้อมชมท้องฟ้าจำลอง พร้อมการบรรยายความรู้เกี่ยวกับดาวเคียงเดือน การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์และดวงจันทร์บนท้องฟ้า ,ชมดาวเคราะห์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ประสิทธิภาพสูงของหอดูดาว
"ท่านจะได้ชมเสี้ยวของดาวศุกร์ แถบเข็มขัดพร้อมดาวบริวารทั้ง 4 ของดาวพฤหัสบดี และที่พลาดไม่ได้คือ การชมวงแหวนที่สวยงามของดาวเสาร์ รวมทั้งวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ เช่น กระจุกดาวโอเมก้าเซนทอรี กระจุกดาวทรงกลมที่ใหญ่ที่สุด และอื่นๆ และผู้ร่วมกิจกรรมจะได้รับเอกสารความรู้ พร้อมทั้งการร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ที่สนุกสนานเพลิดเพลินอีกมากมาย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น"นายวรวิทย์ กล่าวในที่สุด