svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ที่มั่นสุดท้าย ละครชาตรี วัดแคนางเลิ้ง

รายงานชุด "สิทธิชุมชน ฟื้นฟูเมืองกรุง" ในวันนี้ จะพาไปติดตามพื้นที่ย่านวัดแคนางเลิ้งที่ชาวบ้านกำลังสืบสานศิลปะเก่าแก่ อย่างละครชาตรี โดยสิ่งที่ชาวบ้านกลัวคือ การสร้างรถไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาอาจจะทำให้ละครชาตรีหายไป ติดตามรายงานได้จาก คุณ ธัญวัฒน์ อิพภูดม

ความอ่อนช้อยคือเสน่ห์ของการรำซัดหน้าเตียง หรือบทบูชาครูละครชาตรี ซักซ้อมมากว่า 8 สัปดาห์ ในที่สุด อินทุอร สอนใจ ก็ได้แสดงรำซัดต่อหน้าชุมชน ด้วยท่วงท่าที่ต้องร้องไปรำไป ทำให้เธอยอมรับว่า นี่เป็นศิลปะที่ยาก และแตกต่างจากการรำทั่วไป
ทุกสัปดาห์ คณะละครจงกลโปร่งน้ำใจ แห่งชุมชนวัดแคนางเลิ้ง จะเปิดห้องสอนละครชาตรีให้กับเด็กๆละแวกชุมชน เป็นความตั้งใจของลูกหลานในคณะที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้สืบสานศิลปะล้ำค่านี้
ละครชาตรี เป็นละครชาวบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในไทย สันนิษฐานกันว่า เข้ามายังชุมชนนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ก็ลดความนิยมลงไป เมื่อมีศิลปะพื้นบ้านอย่างลิเกเข้ามาครองใจคนดู หนึ่งในชุมชนที่ยังถนอมศิลปะนี้อย่างเหนียวแน่น คือชุมชนวัดแคนางเลิ้ง ที่เป็นแหล่งรวมศิลปะดั้งเดิมที่สำคัญ ไม่เพียงแค่ละครชาตรี ยังมี โขน ลิเก และหนังตะลุง ที่อยู่ด้วยกันมาหลายอายุคนจนได้ชื่อว่าเป็น ตรอกละคร แห่งกรุงเทพ จารุวรรณ สุขสาคร หรือ ครูหมู บอกด้วยความเป็นห่วงว่า ชุมชนวัฒนธรรมแห่งนี้จะสูญหายไปเร็วกว่าเดิม หลังจากพื้นที่ชุมชนเกือบทั้งหมด อาจจะโดนเวนคืนเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน
ครูหมูยืนยันว่า แม้คณะละครจะย้ายไปที่อื่นได้ แต่คนในชุมชนก็ช่วยกันสร้างย่านศิลปะแห่งนี้ จนกลายเป็นรากวัฒนธรรมที่ยึดติดกับพื้นที่ไปแล้ว และไม่อาจเคลื่อนย้ายไปที่อื่นได้
ด้านอดีตประธานชุมชน ยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธรถไฟฟ้า แต่เชื่อว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ชาวบ้าน และภาครัฐต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำเพื่อหาจุดสมดุลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ในวันที่อนาคตของชุมชนยังไม่ชัดเจน คณะละครจงกลโปร่งน้ำใจก็ยังย้ำจุดยืนเดิมว่า จะมุ่งสืบสานละครชาตรีต่อไป เพื่อรักษาคุณค่าของตรอกละครนี้ให้ลูกหลาน เชื่อด้วยว่า สิ่งเก่าและสิ่งใหม่จะอยู่ร่วมกันได้ ถ้ามีพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน