การออกมาชุมนุมใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นักศึกษา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ กล่าวได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เด่นชัดอีกครั้งหนึ่งของเยาวชนคนหนุ่มสาว เนื่องจากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 พลังของนักศึกษาในการชี้นำสังคมได้เงียบหายไปเป็นเวลายาวนาน ไม่น้อยกว่า 40 ปี การออกมาชุมนุมในครั้งนี้ นับเป็นการแสดงบทบาทของการกลับมาชี้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองอีกครั้งหนึ่ง อันเกินความคาดหมายของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาล เนื่องจากมีการออกมาแสดงพลังจำนวนมากแน่นขนัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนิน
การออกมาแสดงพลังทางการเมืองในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงการมีพัฒนาการความคิดทางการเมืองแบบก้าวกระโดด กล่าวคือจากเดิมที่เคยถูกปรามาสว่า ขบวนการเยาวชนคนหนุ่มสาวไม่มีพลังใด ๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม มีความคิดเฉยชาไม่สนใจเรื่องการเมือง มุ่งสนใจแต่เรื่องการหาความสุขสำราญส่วนตัว หรือสนใจแต่กิจกรรมบันเทิง และเก็บตัวอยู่ภายในแต่ละสถาบันการศึกษาของตนเอง มาในวันนี้พวกเขาได้ฟื้นตัวก้าวล้ำไปสู่การมีแนวคิดแบบ "เสรีนิยมใหม่" ซึ่งผู้ใหญ่ในรุ่นเบบี้บูมเมอร์และรุ่นเจนเอ็กซ์ (Gen X) โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีหัวทางอนุรักษ์นิยมยากที่จะเข้าใจแนวความคิด ความต้องการ หรือการให้คุณค่ากับเรื่องอะไร รวมถึงความรู้สึกเป็นอิสระของพวกเขาได้ และพลังของเยาวชนเหล่านี้จะก่อตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ หากความรู้สึกอึดอัดและความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งสั่งสมมายาวนานไม่ได้รับการตอบสนอง หรือไม่ได้รับการแก้ไขจากผู้มีอำนาจรัฐ การออกมาประท้วงของเยาวชนคนหนุ่มสาวในครั้งนี้ ยังได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเสื่อมศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลอย่างรุนแรง และความเสื่อมศรัทธานี้ได้แพร่ขยายออกไปในวงกว้างทั่วประเทศ โดยผ่านสื่อโซเซียลมีเดียอันเป็นอาวุธที่ทรงพลังของพวกเขา
แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่ว่านี้ สอดคล้องกับผลการศึกษาของนักสังคมวิทยาการเมืองในโลกตะวันตก ที่พบว่า ในปัจจุบันมีประเทศจำนวนมากทั่วโลก ที่ประชาชนได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยมทางการเมืองไปในแนวทางที่ก้าวหน้าหรือแบบใหม่มากขึ้น กล่าวคือจากเดิมที่เคยมีความจงรักภักดียินยอมต่อระบบการเมือง (allegiance) แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การกล้าตั้งคำถาม กล้าออกมาต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้องชอบธรรม และกล้ายืนยันในสิทธิของตนเองอย่างชัดเจน ในการแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น (assertiveness) ขณะเดียวกันประชาชนก็เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจต่อผู้ปกครอง และรวมถึงสถาบันทางการเมืองต่างๆ เนื่องจากเห็นว่า ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาได้ หรือไม่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสังคมได้ และประชาชนยังกล้าที่จะออกมาเผชิญหน้ากับกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง ด้วยการเสนอข้อเรียกร้องใหม่ๆที่มาจากความต้องการของพวกเขา ดังเช่นกรณีที่เยาวชนของเราได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ หนึ่ง ให้มีการยุบสภา สอง ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สาม ให้หยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น
นักสังคมวิทยาการเมืองเห็นว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อ และค่านิยมทางการเมืองที่เป็นไปในทางก้าวหน้ามากขึ้นเช่นนี้ ในท้ายที่สุดจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานได้ดี ทั้งในแง่ของการทำให้พวกชนชั้นนำที่มีอำนาจมีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น และยังทำให้ระบบการเมืองการปกครองมีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน และในสังคมที่ประชาชนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่ตนเองสามารถกระทำให้เกิดขึ้นได้ สังคมที่ประชาชนเริ่มมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากขึ้น สังคมที่ประชาชนได้รับการศึกษาและมีข้อมูลข่าวสารมากขึ้น มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่พลเมืองแบบใหม่ และยังเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ แน่นอนในบางช่วงเวลาและสถานการณ์ กลุ่มของพลเมืองแบบใหม่นี้อาจมีการต่อสู้และปะทะกันทางความคิด กับพวกที่ต้องการรักษาสถานภาพเดิม หรือพลังอนุรักษ์นิยมบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไป ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ อย่างไรก็ดี จากการเข้าร่วมอย่างขนานใหญ่ หรือถ้ามีพลังมากพอของพลเมืองแบบใหม่เหล่านี้ ในท้ายที่สุดจะทำให้ข้อเรียกร้องต่างๆของพวกเขา ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในนโยบายของรัฐบาล หรืออาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวรัฐบาลได้
เมื่อหันมามองสถานการณ์ในเมืองไทย เราต้องไม่มองว่าเยาวชนที่ตื่นตัวทางการเมืองเหล่านี้ เป็นคนที่คิดร้ายทำลายชาติ หรือเป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ แท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การที่เยาวชนหันมาสนใจเรื่องการเมืองนับว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากการเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคน ประเทศจะพัฒนาไปไม่ได้ถ้าเยาวชนในชาติสนใจแต่ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง และเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวสนใจการเมืองกลุ่มนี้ ในที่สุดจะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป และในการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ เขาไม่จำเป็นต้องรอการบอกเล่าจากผู้ใหญ่ พวกเขาสามารถหาความรู้ได้เอง คิดเองได้ บางครั้งเขากล้าตั้งคำถามได้อย่างแหลมคมมากกว่าผู้ใหญ่บางคน
ที่น่าสนใจคือ ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติของพวกเขา เขาใช้การต่อสู้เชิงสัญญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ ที่คู่ขนานพร้อมไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เช่น การชูสามนิ้ว การชูกระดาษเปล่า กิจกรรมวิ่งร้องเพลง และการติดริบบิ้นสีขาว ฯลฯ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาพยายามปลดแอกจากการที่ต้องตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยมมายาวนาน อันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองหรือระบบที่ไม่เคยเปิดโอกาส หรือปิดกั้นไม่ให้เขาได้พูดหรือแสดงออกมาก่อน และในการต่อสู้ทางการเมืองก็ไม่จำป็นต้องมีแกนนำที่ผูกขาดตลอดกาล ไม่จำเป็นต้องมีแม่ยก แต่ใช้การระบบการสื่อสารสมัยใหม่ในการติดต่อกับสมาชิก
รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยและในฐานะผู้ปกครอง ต้องมีความเข้าใจถึงพลวัตรหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองเช่นนี้ เพื่อให้การบริหารบ้านเมืองเป็นไปด้วยดี หากผู้มีอำนาจยังขาดความรู้และความเข้าใจ และหันมาใช้กำลังความรุนแรงหรือใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เข้าจัดการกับกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้ นอกจากเป็นการทำลายเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์แล้ว ยังอาจทำให้ปัญหาบานปลายเกิดขึ้นได้
รศ.ดร. พรอัมรินทร์ พรหมเกิดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นโทร 084-115-5583, E-mail; [email protected]