กำลังเป็นประเด็นร้อนๆ ที่ได้รับความสนใจอย่างแรง จากกรณีที่รถบรรทุกรูปปั้นที่เดินทางมาจากโรงหล่อ จ.ราชบุรี เพื่อนำไปส่งยังโรงแรมแห่งหนึ่งย่าน รัชดา-ลาดพร้าว แต่เมื่อมาถึงบริเวณ รัชดาภิเษก 36 รูปปั้นมีขนาดสูงติดสะพานลอย ไม่สามารถผ่านไปได้ ส่งผลกระทบทำให้การจราจร ถ.รัชดาภิเษกขาเข้า เป็นอัมพาตไปชั่วขณะ และรถติดสะสมต่อเนื่องถึงสะพานพระราม 7 หลังการแชร์ข่าวนี้กันสนั่น และปรากฎภาพรูปปั้นขนาดใหญ่สีดำ ทำเอาหลายคนต่างสงสัยและอยากรู้ไปตามๆ กันว่ารูปปั้นลักษณะที่น่าเกรงขาม รูปกายเป็นมนุษย์สีดำขลับแต่มีปีก ตาสีแดง เขี้ยวทอง เล็บงอกยาวแดง ดังกล่าวคืออะไรกันแน่
ต่อมาถึงทราบว่า รูปปั้นดังกล่าวคือรูปปั้น "ครูกายแก้ว" เป็นที่รู้จักและเคารพบูชา เชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดตำนาน “ครูกายแก้ว”
“ครูกายแก้ว” หรือ “พ่อใหญ่ บรมครูผู้เรืองเวทย์” มีที่มาเท่าที่ปรากฎ มากับพระธุดงค์ที่ จ.ลำปาง ที่ได้ธุดงค์ไปทำสมาธิ ที่ปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา และต่อมาก็ได้มอบครูกายแก้วนี้ให้กับลูกศิษย์ นั่นก็คือ อ.ถวิล มิลินทจินดา หรือพ่อหวิน นักร้องเพลงไทยเดิมของกองดุริยางค์ทหารสมัยก่อน ผู้เป็นอาจารย์ของ อ.สุชาติ รัตนสุข ผู้สร้างองค์ปฐมของครูกายแก้วขึ้นในประเทศไทย
ในครั้งแรกที่ อาจารย์สุชาติ ได้รับมอบครูกายแก้วมานั้น องค์ครูมีขนาดเล็ก เป็นลักษณะคนนั่งหน้าตักเพียงแค่ประมาณ 2 นิ้วเท่านั้น และต่อมา "ครูกายแก้ว" ก็ปรากฏกายให้อาจารย์สุชาติได้เห็น ในตอนนั้นเองอาจารย์สุชาติก็ได้ทำการวาดภาพของ "ครูกายแก้ว" จากจินตนาการ และทำการหล่อรูปองค์ครูขึ้นเป็นองค์แรก มีลักษณะเป็นองค์ยืน คล้ายคนแก่ นำไปไว้ที่สำนัก จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการบูชาครูนั่นเอง
โดยรูปร่างลักษณะขององค์ "ครูกายแก้ว" ที่อาจารย์สุชาติสร้างขึ้นมานั้น เป็นลักษณะของผู้บำเพ็ญกึ่งมนุษย์กึ่งนก มีปีกด้านหลัง มีเขี้ยวทองเพื่อสื่อถึงนกการเวก อ้างอิงตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่บนกำแพงบายน ที่มีประวัติของการเวกซึ่งเป็นพวกนักดีดสีตีเป่า ถือเป็นครูของศาสตร์ศิลป์ทั้งหลายในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของกัมพูชา
ปัจจุบัน องค์ปฐมแบบยืนของ "ครูกายแก้ว" นั้นถูกย้ายไปไว้ที่บ้านของคุณสุวรรณี เต็มเจริญสุข ส่วน "ครูกายแก้ว" องค์ต่อมาที่เป็นแบบองค์นั่งก็ถูกเก็บเอาไว้บูชาที่บ้านของท่านอาจารย์สุชาติเอง แต่หากว่าใครอยากจะกราบไหว้ขอพรองค์ "ครูกายแก้ว" ก็สามารถไปได้ที่เทวาลัยพระพิฆเนศห้วยขวาง ที่นั่นมีองค์ "ครูกายแก้ว" แบบนั่งเช่นเดียวกัน
เปิดความเชื่อ 'ครูกายแก้ว' บรมครูผู้เรืองเวทย์ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ 'ครูกายแก้ว ไหว้ที่ไหน' ขอพรอย่างไรให้สมหวัง
หากศรัทธาต่อ "ครูกายแก้ว" สามารถไปกราบไหว้ท่านได้ที่ไหน?
ปัจจุบันองค์ปฐมแบบยืนของครูกายแก้วนั้น ถูกย้ายไปไว้ที่อื่น ส่วนองค์ต่อมาที่เป็นแบบองค์นั่ง ถูกเก็บเอาไว้บูชาที่บ้านของ อ.สุชาติเอง แต่หากว่าใครอยากจะกราบไหว้ขอพรองค์ครูกายแก้ว ก็สามารถไปได้ 3 แห่ง
1. ห้วยขวาง
“ครูกายแก้ว” ตั้งอยู่บริเวณเทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง สถานที่ยอดฮิตสำหรับสายมูเตลู เนื่องจากมีชื่อเสียงในด้านการประทานพรให้ประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมสูง
2. บางใหญ่
ตั้งอยู่บริเวณด้านในของเทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่ สถานที่แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยอาจารย์ณัฐวุฒิ รัตนสุข เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของอาจารย์สุชาติ รัตนสุข ไม่ให้วิชาสูญหาย ในขณะเดียวกัน ก็เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับคนในละแวกนี้ โดยส่วนใหญ่นิยมขอเรื่องการเงิน การงาน โชคลาภ
3. เชียงใหม่
บริเวณศาลพระพิฆเนศ อาเขตเชียงใหม่ จะมีองค์ครูกายแก้วตั้งอยู่ โดยสามารถซื้อธูป เทียน ดอกไม้ด้านหน้าให้มาบูชา กราบไหว้ และขอพร แต่หากจะบูชาครูกายแก้ว อาจจะต้องเตรียมผลไม้ ของหวาน และของสำหรับบูชาอื่นๆ มาด้วย
เผยวิธีขอพรครูกายแก้ว
การบูชาองค์ครูกายแก้วนั้น เหล่าศิษยานุศิษย์จะทำการบูชาครูด้วยธูป 5 ดอก กราบไหว้องค์ครู หลังจากนั้น จะทำการถวายเงินที่ตู้แก้วของครูกายแก้ว และทำการเคาะแล้วจึงขอพรบอกกล่าวความปรารถนาแก่องค์ท่าน เพราะเชื่อกันว่า ครูกายแก้วมีความเมตตาสูง โดยท่านสามารถประทานโชคให้ได้ทั้งด้านการงานและการเงิน
เปิดคาถาบูชาครูกายแก้ว
“นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธ ธัสสะ” (ตั้งนะโม 3 จบ)
“มะอะอุ ครูกายแก้ว เมตตา จะมหาราชา สัพพะสเน่หา มะมะจิตตัง ปิยังมะมะ” (สวด 9 จบ)
การบูชาองค์ครูกายแก้ว
เหล่าศิษยานุศิษย์จะทำการบูชา "ครูกายแก้ว" ด้วยธูป 5 ดอก กราบไหว้องค์ครู หลังจากนั้นจะทำการถวายเงินที่ตู้แก้วของ "ครูกายแก้ว" และทำการเคาะแล้วจึงขอพรบอกกล่าวความปรารถนาแก่องค์ท่าน
นอกจากจะเป็นที่ศรัทธาที่ประเทศไทยเราแล้ว "ครูกายแก้ว" ก็ยังมีผู้ศรัทธาแรงกล้าไกลถึงฮ่องกง โดยที่นั่นเองก็มีองค์ "ครูกายแก้ว" ซึ่งเป็นที่เลื่องลือในด้านของความศักดิ์สิทธิ์ ให้พรในเรื่องความสำเร็จ ความร่ำรวย เจริญรุ่งเรืองเงินทอง จนชาวฮ่องกงพากันเปรียบองค์ "ครูกายแก้ว" เป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวยเลยทีเดียว
ขอขอบคุณที่มา : ศรัทธา ปาฎิหาริย์ / คมชัดลึก / ไทยนิวส์ มา ณ โอกาสนี้