อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยว สามารถลงไปสัมผัสความเป็นชุมชนรากฐานเชิงวัฒนธรรมได้ที่ "วิสาหกิจชุมผ้าทอนาหมื่นศรี" อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นผลิตผ้าทอมือชื่อดังของหวัดตรัง ซึ่งมีการทอ ลวดลายต่างๆ จัดจำหน่ายจำนวนมาก โดยมีสมาชิกในกลุ่มช่วยกันทอจำหน่าย และยังนำมาตัดเย็บออกเป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นของใช้ ของฝาก กระเป๋า และของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ สารทเดือนสิบ เป็นต้น
โดยจะภายในจะมีอาคารพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี และร้านค้าวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เรียกว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบที่หลากหลายหน่วยงานได้มาเยี่ยมชม เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ที่มาที่ไปเกี่ยวกับ ผ้าทอนาหมื่นศรี ที่มีประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี แหล่งทอผ้าที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ กับลายผ้าดั้งเดิมมากถึง 39 ลาย ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบสานต่อยอดความรักด้วยความรัก
ผ้าทอนาหมื่นศรี เนื่องด้วยลักษณะเส้นด้ายที่ผสานร้อยเรียงกันเป็นผืนผ้าอันสวยงามหลากหลายลวดลายและสีสัน จากภูมิปัญญาท้องถิ่นทางด้านศิลปะการทอผ้าจากรุ่นสู่รุ่น “ผ้าทอนาหมื่นศรี” จึงเป็นผ้าทอที่มีเอกลักษณ์ความสวยงามเฉพาะตัวสืบเนื่องยาวนาวนานมาหลายร้อยปี
เรื่องราวผ้าทอนาหมื่นศรีเล่าขานกันว่าสมัยก่อนหญิงสาว 1 คนจะทอผ้า 3 ผืนในหนึ่งช่วงชีวิต ‘ผ้าตั้ง’ เป็นผ้าผืนแรกที่ผู้หญิงทอเป็นผ้าใส่พานเตรียมไว้สำหรับเจ้าบ่าวที่จะแต่งงานด้วย ‘ผ้าห่ม’ เป็นผ้าผืนที่สองของคนเป็นแม่ทอเป็นผ้าห่มนาคเตรียมไว้ให้ลูกชายบวช ส่วนผืนที่สาม ‘ผ้าพานช้าง’ เป็นผ้าผืนสุดท้ายที่คนเป็นย่า-ยายทอเตรียมไว้ 2 ชุด สำหรับพาดโลงศพของตนเองและสามี มีความเชื่อว่าผ้าทอผืนเล็กที่เย็บต่อกันเป็นผ้าพาดเปรียบเสมือนบันไดขึ้นสู่สวรรค์ หลังจบงานถ้าไม่ถวายผ้าทอให้พระลูกหลานจะตัดแบ่งผ้ากันเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก
แม้จะ “ทำได้เป็นหมื่นสี” แต่เอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าทอนาหมื่นศรี คือผ้าสีแดงเหลืองมีโครงสร้างผ้าเป็นภาษาใต้ทั้งหมด มีริมตีน แม่แคร่ ลูกเกียบ ชายรุ่งริ่ง และหน้าผ้า ที่ชุมชนแบ่งผ้าออกเป็น 3 ลักษณะการใช้งาน มี ‘ผ้านุ่ง’ เป็นผ้าถุง โสร่ง และโจงกระเบน ‘ผ้าพาดหรือผ้าห่ม’ ถ้าเป็นลักษณะผืนแคบจะใช้เป็นสไบห่มทับเสื้อ แต่ถ้าเป็นลักษณะผืนกว้างจะนิยมโพกศีรษะและคาดเอว และ ‘ลูกผ้า’ ขนาดผืนจตุรัสไว้ใช้รองกราบ
ผ้าทอนาหมื่นศรีจะเน้นลวดลายจากธรรมชาติ เช่น ลายปลา ลายท้ายมังคุด ลายช่อลอกอ (ช่อมะละกอ) ฯลฯ บางลายเกี่ยวกับดอกไม้เพราะมีคำว่า ‘แก้ว’ พ่วงอยู่ด้วย เช่น ลายแก้วกุหลาบ ลายแก้วชิงดวง เป็นวงกลมสองดวงคล้องกันซึ่งถือว่ามีความซับซ้อน ช่างทอยุคใหม่ต้องแกะลายจากผ้าทอช่างครูอยู่ 2 ปี ถึงจะทอได้เหมือนต้นฉบับ
ทั้งนี้ยังมีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่แบ่งพื้นที่การใช้งาน ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นโรงเรือนทอผ้าอยู่ด้านหน้าคอยต้อนรับแขกผู้มาเยือน ส่วนถัดไปเป็นร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนข้าวของเครื่องใช้จากผ้าทอสารพัดแบบ และจุดเด่นอยู่ด้านบนโรงเรือนทอผ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรีที่เดินเพลินได้ความรู้ รวมทั้งได้เห็นถึงความสวยงามของผืนผ้าทอมือและศักยภาพที่ได้ผนวก เข้ากับงานออกแบบสมัยใหม่เป็นการถักทอความภาคภูมิใจจากรุ่นสู่รุ่นให้ตำนานยังคงมีชีวิตที่นาหมื่นศรี จ. ตรัง
หากย้อนกลับไปในปี ปี 2557 กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปช่วยรวมกลุ่มช่างทอ จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ. ตรัง รวบรวมลายผ้าโบราณ และเปิดร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ จากนั้นได้ปรับปรุงชั้น 2 ของโรงทอผ้าเดิม (อาคารไม้) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อรวบรวมผ้าทอมือโบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี พร้อมทั้งสืบสานลายอัตลักษณ์โบราณ โดย
ต่อมา ปี 2561 ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรีเดิมอีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านให้เป็นโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง
ปี 2562 อบรมการเป็นมัคคุเทศก์ในพิพิธภัณฑ์ ให้แก่ ลูกหลานชาวนาหมื่นศรี จ. ตรัง และ นักเรียนโรงเรียนบ้านควนสวรรค์ รวมทั้ง จัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวทราบแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน โดยจัดทำแผ่นพับแผนที่เส้นทางจักรยานท่องเที่ยวภายในตำบลนาหมื่นศรี และป้ายข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน พร้อมจัดจักรยานให้เช่าบริการแก่นักท่องเที่ยวพร้อมส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาเส้นใยผ้าให้แก่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อาทิ ผ้าทอนาโน ใยผ้าจากกล้วย เป็นต้น
และในปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 7.3 ล้านบาท และมีจำนวนสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วม 155 คน ปัจจุบัน
‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี’ นับได้ว่าเป็นต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรม ในแต่ละเดือนจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แวะเวียนไปดูงานอย่างสม่ำเสมอ