svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

รู้จัก Bullous Pemphigoid โรคตุ่มน้ำพอง และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ทำความเข้าใจ “โรคตุ่มน้ำพอง” (Bullous Pemphigoid) โรคที่พรากชีวิตพระเอกร้อยล้าน “วินัย ไกรบุตร” ต้นเหตุทำลายภูมิคุ้มกันจนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาการโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบน้อยมากและไม่ใช่โรคติดต่อ

สุดอาลัย “วินัย ไกรบุตร” นักแสดงชื่อดัง ที่เสียชีวิตในวัย 54 ปี โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากภาวะความดันตก และติดเชื้อในกระแสเลือด จึงทำให้หัวใจหยุดเต้น ภายหลังเจ้าตัวต่อสู้กับอาการป่วยเรื้อรังจากโรคตุ่มน้ำพอง (Bullous Pemphigoid) มาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ซึ่งนับเป็นการต่อสู้กับโรคผิวหนังที่เรื้อรังและยาวนาน

รู้จัก Bullous Pemphigoid โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน

Bullous Pemphigoid (โรคเพมฟิกอยด์) หรือโรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อยมาก หลายคนเรียกว่า "ภูมิเพี้ยน" ที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งสาเหตุของโรคเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มาทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกันกลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก

 

สาเหตุของโรค Bullous Pemphigoid โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน

สำหรับสาเหตุของโรคนี้เกิดจาก เกิดจากร่างการสร้างภูมิต้านทาน (autoantibody) ต่อโปรตีนที่ยึดชั้นผิวหนังก้าพร้ากับชั้นหนังแท้ หรือแอนติเจนบริเวณชั้นเยื่อฐาน (basement membrane zone) และมีการกระตุ้นให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อและเกิดรอยแยกใต้ชั้นผิวหนังกำพร้า ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสตามมา โดยออโตแอนติเจนที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพ คือบูลลัสเพมฟิกอยด์แอนติเจน  หรือบูลลัสเพมฟิกอยด์ แอนติเจน เกิดเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งมีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อโรค และสารเคมีเป็นปัจจัยกระตุ้นมีบทบาทร่วมกันในการก่อโรค โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน "ไม่ใช่โรคติดต่อ"

อาการโรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน

อาการป่วยของโรคนี้จะพบได้ทั้งเพศหญิงและชาย โดยมีตุ่มน้ำพองขนาดต่างๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนัง บางรายอาจเกิดที่เยื่อบุต่างๆ ร่วมด้วย เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเกิดแผลหรือรอยถลอก ทำให้มีอาการเจ็บ ถ้าเกิดตุ่มน้ำพองหรือแผลในปากจะทำให้เจ็บแสบกลืนอาหารไม่สะดวก บางรายผิวหนังที่ถลอกหรือเป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นหนอง ถ้าเป็นรุนแรง เชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีไข้ หรืออาการอื่นๆ ได้

ตามปกติอาการหลักที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือ การปรากฏตุ่มน้ำ หรือแผลถลอกเรื้อรังที่บริเวณร่างกายหรือเยื่อบุ โดยที่ 50-70% มีอาการแผลในปากเรื้อรังเป็นอาการแรก ซึ่งอาจนำมาก่อนอาการทางผิวหนังเฉลี่ยประมาณ 5 เดือน โดยทั่วไปจะตรวจไม่พบตุ่มน้ำในช่องปาก มักพบเป็นแผลถลอกที่บริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม หรือเพดานปาก รอยถลอกอาจพบเป็นบางบริเวณหรือกระจายทั่วทั้งปาก ทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก และอาจเกิดรอยโรคที่บริเวณกล่องเสียง ทำให้มีอาการเสียงแหบได้

ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ ศีรษะ หน้าอก หน้าท้อง และบริเวณที่ผิวหนังเสียดสีกัน รวมถึงอาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่น เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ บริเวณผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ แตกได้ง่าย กลายเป็นแผลถลอก มีอาการปวดแสบ หรือคัน เมื่อแผลหายมักทิ้งรอยดำโดยไม่เป็นแผลเป็น

รู้จัก Bullous Pemphigoid โรคตุ่มน้ำพอง และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

การดูแลโรคตุ่มน้ำพอง ทำได้อย่างไร

1. ควรพบแพทย์สม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาหรือปรับลดยาเอง

2. ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลใช้น้ำเกลือ ทำความสะอาดแผล ไม่แกะเกาผื่นแผล ไม่ควรใช้ยาพ่นหรือพอกยาเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

3. ผู้ป่วยมีภาวะภูมิต้านทานต่ำ จากการได้รับยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ และไม่ควรไปในสถานที่แออัด

4. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ระคายเคืองต่อผิวหนังง่าย เช่น เสื้อผ้าที่รัด ความร้อน

5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุกสะอาด อาหารอ่อนย่อยง่ายรสไม่จัด ผลไม้ควรปอกเปลือกก่อนรับประทาน แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดคับ

6. การได้รับยากดภูมิต้านทาน อาจมีผลกระทบต่อโรคประจำตัวได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรได้รับการรักษาควบคู่กันไป นอกจากนี้หากมีอาการปวดท้องอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

7. ในช่วงที่โรคยังไม่สงบ ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่ใช้ควบคุมโรคอาจมีผลต่อทารกในครรภ์

8. ผู้ป่วยที่มีแผลในปากควรงดอาหารรสจัด และงดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ปลาแห้ง ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการ หลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก

9. หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียดซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

 

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อันตรายแค่ไหน?

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือภาวะที่มีแบคทีเรียก่อโรครุกล้ำในกระแสลือด เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อองค์ประกอบแปลกปลอมของเชื้อแบคทีเรีย ปฏิกิริยานั้นอาจทำให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายเกิดความล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยการติดเชื้อในกระแสเลือดอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในตำแหน่งอื่นของร่างกาย เช่น ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ลิ้นหัวใจ ทางเดินปัสสาวะ,ทางเดินอาหารและตับ เป็นต้น

อาการที่ควรเฝ้าระวัง

  • ไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ซึม
  • หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว
  • อาเจียน ท้องเสียรุนแรง

ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด

  • เด็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
  • สูงอายุ เพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเริ่มเสื่อม
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ
  • ผู้ที่มีหลายโรคร่วม เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

นอกจากปัจจัยของผู้ป่วยแล้ว ปัจจัยของเชื้อก่อโรคที่เป็นสาเหตุก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ เช่น ถ้าเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงหรือเป็นเชื้อดื้อยาหลายชนิดก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน