svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

วัยรุ่นส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ผิดว่า “สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว...” จริงหรือ?

ล้างความเชื่อ “สูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าแบบมวน” ชวนกะเทาะเปลือกความคิดผิดๆ ที่วัยรุ่นไทยเข้าใจ พร้อมเตือนภัยเป็นประตูสู่การเสพติดกัญชามากกว่า 4 เท่า!

ข่าวคราวเรื่องพิษภัยของ “บุหรี่ไฟฟ้า” มีมาให้เห็นเป็นระยะ ทว่า นักสูบหน้าใหม่ในสังคมไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังลดอายุคนที่ลองสูบครั้งแรกลงไปเรื่อยๆ จากหลายปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ บวกกับความอยากรู้อยากลองของเยาวชน ส่งผลให้หลายคนเริ่มเข้าสู่วงการ “สิงห์อมควัน” เพราะความรู้ไม่เท่าทันอันตรายที่แท้จริง

ด้วยความห่วงใย NATION STORY จึงรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ที่วัยรุ่นไทยยังเข้าใจผิด พร้อมตีแผ่ความจริงมาให้ในบทความนี้

วัยรุ่นส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ผิดว่า “สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว...” จริงหรือ?

ทำไมยังสูบบุหรี่ไฟฟ้า?

หลากหลายเหตุผลที่กลายเป็นคำตอบของเรื่องนี้ คือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ความเชื่อที่ผิด : บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน

ล่าสุดพบข้อมูลสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า ประเทศไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 หมื่นคน ในปี 2558 เป็น 7 แสนคนในปี 2565 ซึ่งพบมากขึ้นในกลุ่มเยาวชนอายุ 13-24 ปี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่มวนถึง 3 เท่า!!

ความจริง : จากผลการศึกษาพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง โรคหลอดลมฝอยอักเสบ และโรคปอดอักเสบรุนแรงได้มากกว่าบุหรี่มวน จากนิโคตินสังเคราะห์ และกระบวนการเผาไหม้ ที่เต็มไปด้วยสารประกอบโลหะหนัก ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างรุนแรงกว่าบุหรี่มวนถึง 3 เท่าอีกด้วย

สิ่งที่น่ากังวล คือผู้ผลิตสินค้าเริ่มพุ่งเป้าทางการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน ซึ่งเห็นได้ชัดจากการออกแบบรูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้มีรูปลักษณะจูงใจกลุ่มเป้าหมาย เช่น บุหรี่ไฟฟ้าแบบ TOY POD ที่แทบไม่ต่างจากของเล่นเด็ก แม้ตอนนี้แม้บุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาจะเป็นสินค้าต้องห้าม ผิดกฎหมายในไทย แต่กลับหาซื้อได้ทั่วไป และขายกันอย่างโจ่งแจ้งตามช่องทางออนไลน์

ความเชื่อที่ผิด : บุหรี่ไฟฟ้า แค่มีกลิ่นที่หอม

ความจริง : กลิ่นจากไอบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายทำลายปอด ทำให้เกิดปอดข้าวโพดคั่ว หรือ “Popcorn Lung" ซึ่งรักษาไม่หาย

วัยรุ่นส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ผิดว่า “สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว...” จริงหรือ?

ความเชื่อที่ผิด : บุหรี่ไฟฟ้า เป็นแค่ไอน้ำ

ความจริง : ไอของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ไอน้ำ ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดของผู้ใช้สัมผัส กับสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ โดอะซีติล และ อะโครลิน รวมถึงอนุภาคโลหะที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว

ความเชื่อที่ผิด : บุหรี่ไฟฟ้า ไม่มี "นิโคติน" ทำให้ไม่เสพติด

ความจริง : บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด เมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้า สารนิโคตินจะถูกส่งไปยังสมองภายในระยะเวลา 10 วินาที สมองของวัยรุ่นยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินมากขึ้น

ความเชื่อที่ผิด : นิโคติน ไม่ได้เลวร้ายสำหรับฉัน

ความจริง : การได้รับสารนิโคตินในช่วงวัยรุ่นส่งผลต่อการพัฒนาของสมองปกติ มีผลในระยะยาว เช่น การขาดสติและทำให้อารมณ์แปรปรวน

ความเชื่อที่ผิด : ก็แค่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้หมายความว่าฉันจะสูบบุหรี่จริง

ความจริง : มีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นเมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะไปลองสูบบุหรี่จริง

วัยรุ่นส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ผิดว่า “สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว...” จริงหรือ?

บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า 'ต้นทางแรก' ทำเยาวชนติดยาเสพติด

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยว่า การใช้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนทำให้เสพติดนิโคติน ซึ่งถือเป็นต้นทางแรก ประตูเชื่อมให้ไปสู่การเสพติด ยาเสพติดอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะนิโคตินที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ สามารถดูดซึมได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมากกว่านิโคตินตามธรรมชาติ และยังก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่านิโคตินแบบเดิมอีกด้วย ทำให้เด็กๆ เริ่มทดลองและเสพติดได้ง่ายมาก

การศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน

สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรมได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนก่อนได้รับโทษคดียาเสพติด ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ

  • จำนวน 300 คน
  • อายุเฉลี่ย 17 ปี
  • เป็นเพศชาย 289 คน เพศหญิง 11 คน

ผลการศึกษาพบว่า

  • 95.4% เคยสูบบุหรี่มวน
  • 79.3% เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า
  • 76% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่นๆ

ยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดในเด็กและเยาวชน ได้แก่

  • ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1%
  • ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5%
  • ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน 8.9%
  • ยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี (LSD) เห็ดขี้ควาย สารระเหย 5.5%

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ที่เริ่มสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่อายุยังน้อย จะสามารถเปลี่ยนมาเป็นทั้งผู้เสพและผู้ขายยาเสพติดได้ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติทั้งนี้การที่จะปราบปรามยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด ต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง คือการปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

เตือนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงพฤติกรรมเสพติดกัญชา 4 เท่า!

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้ปัจจุบันสารปรุงแต่งกลิ่นและรสในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีความหลากหลายมากถึง 16,000 รสชาติ ยกตัวอย่าง กลุ่มกลิ่นผลไม้ ขนมหวาน เครื่องดื่ม ลูกอม ซึ่งเป็นกลิ่นและรสที่นักสูบหน้าใหม่ชื่นชอบ นอกจากนี้ อุปกรณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือตัวน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า ยังเอื้อให้ผู้สูบสามารถนำสารเสพติดอื่นมาผสมได้อีกด้วย

จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้านำไปสู่การเสพติดกัญชา ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยมีโอกาสมากถึง 3.6 – 4 เท่า และในขณะเดียวกันยังมีรายงานการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศแคนาดา เสี่ยงต่อการใช้กัญชาสูงถึง 4 เท่า

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน อาจกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้ จึงขอฝากให้ผู้ปกครอง รวมถึง ครูอาจารย์ ช่วยกันแนะนำ ถึงอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทษ พิษภัย ของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

รู้หรือไม่ ควันบุหรี่ไฟฟ้ามีฝุ่นจิ๋ว PM 1.0 มากถึง 98%

กรมควบคุมโรค เตือนอันตรายของควันบุหรี่ไฟฟ้า มีฝุ่นจิ๋ว PM 1.0 ดูดซึมง่าย ทำลายปอด หากสะสมไปเรื่อยๆ อาจเกิดความเป็นพิษต่อยีนในเซลล์ ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้ โดยควันบุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะมี “นิโคติน” ปริมาณสูง มีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย สารโลหะหนัก และสารเคมีก่อมะเร็งแล้ว ยังมีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดได้ง่าย

จากผลการศึกษาในประเทศจีน โดยทดลองวัดปริมาณฝุ่นละอองจากควันบุหรี่ไฟฟ้าภายในห้องที่มีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมของห้อง พบฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก ทั้งโดยเฉพาะ PM 1.0 พบในควันบุหรี่ไฟฟ้ามากถึง 98% นอกจากนี้ หากฝุ่นละอองเหล่านี้ โดยเฉพาะ PM 1.0 ที่มีขนาดเล็กกว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 1 ไมครอน เพราะอนุภาคขนาดเล็กมากที่สามารถเข้าสู่กระแสเลือดและปอดได้ หากสะสมไปเรื่อย ๆ ทำให้การทำงานของปอดบกพร่อง เกิดการอักเสบ และเกิดความเป็นพิษต่อยีนในเซลล์ต่างๆ เป็นสาเหตุของหอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง พังผืดในปอด รวมถึงก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้

 

 

แหล่งอ้างอิง :

Center for tobacco products - FDA

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล