svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

เช็กลิสต์อาหารการกินของผู้ป่วย 'โรคเกาต์' ปัจจัยเร่ง-ลดอาการกำเริบ

รู้หรือไม่!! โรคเกาต์สัมพันธ์กับอาหารที่เราบริโภค เปิดเคล็ดลับสุขภาพ เลือกกินอย่างไรให้เกาต์สยบ ไม่ต้องพบแพทย์เพราะอาการกำเริบ

โรคเกาต์ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการสะสมกรดยูริค (Uric acid)ในร่างกาย กรดยูริคได้จากการเผาผลาญ สารพิวรีน (Purine) ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ร่างกายสังเคราะห์เองได้และพบได้ทั่วไปในอาหารหลายชนิด โดยปกติเมื่อสารพิวรีนที่ร่างกายได้รับจะถูกย่อยจนกลายเป็นกรดยูริค ในคนปกติกรดยูริคจะถูกสร้างขึ้นในอัตราช้าพอที่ไตจะขับออกได้หมดทันกับการสร้างขึ้นพอดี และจะขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ

แต่สำหรับบางรายที่กรดยูริคถูกสร้างขึ้น แล้วไตทำหน้าที่ขับถ่ายออกมาได้ช้าหรือเร็วแบบไม่ปกติ จะทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริมากขึ้นในร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บปวดอย่างรุนแรงในข้อกระดูกหรือรอบๆ ข้อกระดูก ในเพศชายไม่ควรมีกรดยูริคในเลือดมากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับเพศหญิงไม่ควรมีกรดยูริคในเลือดมากกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และที่สำคัญมีการพบว่าโรคเกาต์นี้สามารถถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์

เช็กลิสต์อาหารการกินของผู้ป่วย \'โรคเกาต์\' ปัจจัยเร่ง-ลดอาการกำเริบ

ไขความลับ "กินไก่เป็นเกาต์" จริงหรือ?

เรื่องจริงที่ซ่อนอยู่ก็คือ "ไก่" กับ "เกาต์" ไม่ค่อยถูกกันอย่างที่เข้าใจสำหรับ "ในผู้ป่วยเกาต์" เนื่องจากในเนื้อไก่รวมถึงสัตว์ปีกจะมีสารพิวรีนอยู่มาก ทำให้เมื่อกินเพลินๆ กรดยูริคจึงเกินอัตราที่ไตขับออกไปได้หมด เกาต์จึงกำเริบ ทว่า ก็ไม่ได้หมายถึงว่าคนที่เป็นโรคเกาต์หรือข้ออักเสบจะกินไก่หรือสัตว์ปีกไม่ได้เลย เพียงแต่ควรกินแต่พอดี หรืออยู่ใต้คำแนะนำของแพทย์

แต่สำหรับคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคเกาต์ "ไก่" ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ พญ.ศุภวรรณ ศิริวัฒนกุล อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติซั่ม ศูนย์แการแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สาเหตุของการเกิดเกาต์ ที่พบส่วนใหญ่นั้นเกิดจากความผิดปกติดของยีนบริเวณไต ที่ไม่สามารถขับกรดยูริคออกจากร่างกายได้  และการที่คนเข้าใจผิดว่า "ไก่" ทำให้เกิดเกาต์ นั้นก็เป็นเพราะ ไก่เป็นสัตว์ที่โตเร็ว และมีสารพิวรีนในเนื้อค่อยข้างสูง และอย่างที่รู้เมื่อพิวรีนย่อยสลายก็จะกลายเป็นยูริค

เลือกกินอย่างไรให้เกาต์สยบ

อาหารที่ผู้ป่วยโรคเกาต์ควร "งด"

อาหารที่มีสารพิวรีนสูง เกินกว่า 150 มิลลิกรัมในอาหาร 100 กรัม ได้แก่

  • เครื่องในสัตว์ทุกชนิด อาหารทะเลบางชนิด (ปลาไส้ตัน ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน กุ้ง หอยเซลล์ กะปิ ไข่ปลา)
  • น้ำสกัดหรือตุ๋นเนื้อ น้ำเกรวี น้ำปลา ซุป ซุปก้อน ยีสต์ ธัญพืช (ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง)
  • ผักบางชนิด (กระถิน ชะอม)
  • เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ, ตับอ่อน, ไส้, ม้าม, หัวใจ, สมอง, กึ๋น, เซ่งจี๊
  • สัตว์ปีก เช่น เป็ด, ไก่, ห่าน
  • ปลาดุก, กุ้ง,กุ้งซีแฮ้ หอย, ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน, ปลาขนาดเล็ก, ปลาซาร์ดีน, ไข่ปลา
  • ชะอม, กระถิน, เห็ด
  • ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ
  • น้ำเกรวี, กะปิ, ยีสต์
  • น้ำสะกัดเนื้อ, ซุปก้อน, น้ำต้มกระดูกปลาดุก, น้ำซุปต่างๆ น้ำสกัดเนื้อ

 

อาหารควร "ลด" (กินได้สัปดาห์ละครั้ง)

มีสารพิวรีน 75-150 มิลลิกรัม ในอาหาร 100 กรัม จึงแนะนำให้ควรเลือกรับประทานอาหารในกลุ่มนี้สัปดาห์ละครั้ง ได้แก่

  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู  เบคอน ลิ้นวัว เป็ด ห่าน นกพิราบ ปลาไหล หอยต่าง ๆ  ไข่นกกระทา
  • ผัก เช่น ตำลึง สะตอ ใบขี้เหล็ก (ครั้งละ ½ ถ้วยตวง)
  • เนื้อสัตว์ เช่น หมู, วัว
  • ปลาทุกชนิด เช่น ปลากระพงแดง (ยกเว้น ปลาดุก ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน, ปลาซาร์ดีน) และอาหารทะเล เช่น ปลาหมึก, ปู
  • ถั่วลิสง, ถั่วลันเตา
  • ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้, หน่อไม้ฝรั่ง, ดอกกะหล่ำ, ผักโขม, สะตอ, ใบขี้เหล็ก
  • ข้าวโอ๊ต
  • เบียร์ เหล้าชนิดต่างๆ เหล้าองุ่น ไวน์ (ทำให้การขับถ่ายกรดยูริคทางปัสสาวะลดลง ทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว)

 

อาหารควร "กินให้น้อยลง"

แนะนำให้เลือกรับประทานได้ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื้อสัตว์รับประทานได้ 60-90 กรัมต่อครั้ง ผักในกลุ่มด้านล่างนี้รับประทาน ½ ถ้วยตวงต่อวัน  ได้แก่

  • เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ ปู ปลาแซลมอน กุ้งมังกร หอยนางรม แฮม
  • ผัก เช่น ดอกกะหล่ำปลี เห็ด ผักโขม ถั่วลันเตา หน่อไม้ฝรั่ง
  • ข้าวแป้ง เช่น ข้าวโอ๊ต ขนมปังหวานประเภทโรล บิสกิต วีตเจิร์ม (จมูกข้าวสาลี)

 

อาหารที่ "กินได้ตามปกติ"

มีปริมาณพิวรีนน้อย 0-50 มิลลิกรัม ในอาหาร 100 กรัม ได้แก่

  • ข้าวชนิดต่างๆ 
  • ถั่วงอก, คะน้า
  • ผลไม้ชนิดต่างๆ
  • ไข่
  • นมสด, เนย และเนยเทียม
  • ขนมปัง ขนมหวาน หรือน้ำตาล
  • ไขมันจากพืช และสัตว์

เช็กลิสต์อาหารการกินของผู้ป่วย \'โรคเกาต์\' ปัจจัยเร่ง-ลดอาการกำเริบ

ข้อควรปฏิบัติด้านอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์

  • รับประทานผลไม้และผักให้มาก โดย รับประทานผักส่วนที่โตเต็มวัย
  • รับประทานอาหาร ให้ครบ 5 หมู่
  • ดื่มน้ำสะอาด มากๆ วันละ 3 ลิตร เพื่อช่วยการขับถ่ายยูริคออกมาทางปัสสาวะ
  • ไม่รับประทานอาหารมันมาก เช่น อาหารที่ทอดอมน้ำมันมาก เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะไขมันทำให้ร่างกายขับยูริคได้น้อยลง
  • ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว มีสารพิวรีน สูง หากกินไม่มาก ก็ไม่เป็นไร แต่หากดื่มนมถั่วเหลืองชนิดเข้มข้นวันละ 1 ลิตร หรือมากกว่านับว่าปริมาณมากเกิน ทำให้ได้รับพิวรีนมากประกอบกับโปรตีนก็สูง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นการสร้างกรดยูริคภายในร่างกายได้ ควรลดปริมาณการดื่มนมถั่วเหลืองลงให้เหลือวันละ 2 แก้ว
  • ควรละเว้นไม่รับประทานส่วนยอดผัก ต้นอ่อนของผัก เช่น ยอดคะน้า ยอดผักหวาน ยอดผักบุ้งจีนหน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ดอกกะหล่ำ สะตอ กระถิน ชะอม ผักขม
  • งด อาหารหมัก ที่ใช้ ยีสต์ เป็นตัวเร่งหรือส่วนประกอบ เช่น เต้าเจี้ยว
  • เมล็ดพืชทุกชนิดที่งอกได้จะมียูริคค่อนข้างมาก แม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม ควรงดโดยเฉพาะขณะมีอาการ

 

เทคนิคดูแลตนเองป้องกันไม่ให้เกิดโรคเกาต์

    1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่อ้วนเกินไป ไม่รับประทานอาหารมันมาก เช่น อาหารที่ทอดอมน้ำมันมาก เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะไขมันทำให้ร่างกายขับยูริคได้น้อยลง

    2. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะในผลิตภัณพ์ดังกล่าวจะมีสารพิวรีนสูง และทำให้เกิดยูริคในเลือดสูงได้ จนกลายเป็นเกาต์ได้ 

    3. ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง 

...เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความเสี่ยงและห่างไกลจากโรคเกาต์ได้แล้ว