บนโลกใบนี้มีปลามากกว่า 20,000 ชนิด นับเป็นสัตว์ที่มีมากที่สุดในบรรดาสัตว์มีกระดูกสันหลัง อีกทั้งทั่วโลกยังสามารถพบปลาได้ทุกแห่งไม่ว่าในมหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง ธารน้ำ หนอง หรือบึง ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 พวกหลักคือ ปลาน้ำจืด และปลาน้ำเค็ม
ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เนื้อปลาเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายที่สุด หลังจากปรุงแล้วจะสูญเสียน้ำไป 10-30% เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแล้วจะน้อยกว่ามาก (ประมาณ 50%) ดังนั้น เนื้อปลาจึงเหมาะสำหรับเป็นอาหารของผู้ป่วย คนชรา หรือเด็ก
เคล็ดลับสุขภาพดีแบบชาวเอสกิโมที่กิน ‘ปลา’ เป็นอาหารหลัก
ชาวเอสกิโมมีชีวิตอยู่ในแถบอากาศหนาวเย็นมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดปี ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ชาวเอสกิโมกินปลาเป็นอาหารหลัก ผลการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ชาวเอสกิโมเป็นชนชาติที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และเบาหวานน้อยที่สุด นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะผลจากการกินเนื้อปลานั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากจีน และญี่ปุ่นในทำนองเดียวกันนี้คือ ชาวประมงที่กินปลาเป็นประจำมาหลายชั่วอายุคนจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในอัตราต่ำ
เทียบประโยชน์เนื้อปลากับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น
โดยทั่วไปเนื้อสัตว์อื่นๆ จะมีไขมันสัตว์ และคอเลสเตอรอลมาก ถ้ากินเนื้อสัตว์มากจะทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้ง่าย เช่น หลอดเลือดแข็งตัว โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
หนึ่งในเหตุผลที่เนื้อปลาแตกต่างจากไปจากเนื้อสัตว์อื่น จากการศึกษาวิจัยพบว่า เป็นผลเนื่องมาจากไขมันในสัตว์อื่นส่วนมากเป็นไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) และกรดไขมัน (fatty acid) เป็นเหตุคือทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ดังนั้น การกินเนื้อสัตว์เป็นประจำจะทำให้เกิดโรคหัวใจโคโรนารีได้ง่าย แต่ในเนื้อปลามีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว (Unsaturated fat) หลายชนิดมากกว่า 80% กรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวเหล่านี้สามารถลดคอเลสเตอรอลได้ ดังนั้น จึงไม่ทำให้เกิดโรคหัวใจโคโรนารี
เมื่อเทียบกับเนื้อวัว หมู และไก่แล้ว ปลาจะมีปริมาณโปรตีนที่สูงกว่า และมนุษย์สามารถดูดซึมได้ถึง 96% เนื้อปลามีส่วนประกอบทางเคมีใกล้เคียงกับเนื้อของมนุษย์มาก เนื้อปลามีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีแคลเซียม และฟอสฟอรัสมากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น โดยเฉพาะในปลาทะเลจะมีไอโอดีน เนื้อปลายังมีวิตามิน A, B1 , B12 และ D อีกด้วย
ตั้งแต่โบราณกาลปลาได้ถูกนำมาใช้เป็นอาหารและยา น้ำมันตับปลานั้นสกัดมาจากตับของปลา ในน้ำมันตับปลามีวิตามิน A และ D เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ในน้ำมันตับปลายังมีวิตามิน B1, B2 และ B12 อีกด้วย ปลาบางชนิดสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการทำอินซูลิน ซึ่งเป็นยาที่สำคัญในการรักษาโรคเบาหวาน
กรมอนามัยแนะกินปลาลดเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ
ข้อมูลจากกรมอนามัย เปิดเผยว่า เบาหวานโรคอันดับต้นๆ ที่คนไทยเป็นกันมาก และเป็นโรคที่ต้องดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการบริโภคอาหารเป็นสำคัญ ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ ต้องควบคุมอาหารและน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหันมาให้ความสำคัญกับอาหารประเภทปลา ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารมาก ไม่ทำให้อ้วน และราคาไม่แพงอีกด้วย ปลาเป็นหนึ่งในอาหารที่มีคอเรสเตอรอลต่ำ ย่อยง่าย และเนื้อปลาเป็นโปรตีนคุณภาพดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง
นอกจากเนื้อปลาแล้ว ไขมันปลาก็ยังมีประโยชน์ เป็นแหล่งโอเมก้า 3 ที่หลายคนคิดว่ามีแต่ในปลาทะเลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมีอยู่ทั้งในปลาน้ำจืดและปลาทะเล โดยโอเมก้า 3 จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน การเลือกบริโภคปลาจะต่างจากการเลือกเนื้อสัตว์อื่นๆ โดยการเลือกซื้อเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ เราจะเลือกที่มีมันน้อยๆ แต่ถ้าเราเลือกปลาเราต้องเลือกที่ตัวใหญ่ๆ มีไขมันมาก เพราะไขมันเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น
ส่วนชนิดของปลาที่ให้ประโยชน์มากที่สุดคือ ปลาสวาย มีโอเมก้า 3 สูงถึง 2,570 มก. ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ซึ่งมากกว่าปลาทะเล จึงอยากแนะนำให้หันมาบริโภคปลาน้ำจืดในบ้านเรา เพราะมีราคาถูกแต่มีคุณประโยชน์ที่สูง แถมช่วยลดการบริโภคปลานำเข้า ที่คุณค่าทางอาหารจะลดลงไปเมื่อถูกแช่แข็ง และที่สำคัญยังไม่พบการแพ้ปลาน้ำจืด เหมือนกับปลาทะเลอีกด้วย
สำหรับการปรุงเมนูปลาที่มีคุณประโยชน์ที่สุดอยู่ที่การต้มหรือนึ่ง ที่จะทำให้ได้คุณค่าทางอาหารอย่างครบถ้วนที่สุด โดยให้หลีกเลี่ยงเมนูทอดให้มากที่สุด ทั้งนี้ ควรมีการบริโภคอาหารที่มีเมนูปลาอย่างน้อย 2 มื้อต่อสัปดาห์ แต่หากบริโภคได้ทุกวันก็จะดีที่สุด
ทั้งนี้ ข้อควรระวังในการกินเนื้อปลา คือพยาธิในปลาน้ำจืดมักพบอยู่เสมอ ดังนั้น ในการปรุงจึงแนะนำให้ปรุงสุกก่อนเพื่อความปลอดภัย