ตั้งแต่เด็กเรามักถูกห้ามไม่ให้โดนฝน เพราะหลายคนเข้าใจว่าการสัมผัสกับน้ำและความชื้นทำให้เป็นหวัด!! ซึ่งเป็นเรื่องที่มีทั้งส่วนถูกและความเข้าใจผิด เพราะหากพิจารณาแล้ว “ไข้หวัด” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม และเจ็บคอ โดยเชื้อที่ก่อให้เกิดไข้หวัดมักจะเป็นเชื้อไวรัสชนิดที่ไม่รุนแรง อาการของไข้หวัดช่วงแรกๆ (2-3 วัน) อาจจะทำให้รู้สึกแย่หน่อย แต่หลังจากนั้นอาการจะทุเลาลง โดยโรคไข้หวัดจะมีอาการอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงของแต่ละคน
เมื่อทราบกันแล้วว่าโรคไข้หวัดเกิดจาก “เชื้อไวรัส” ซึ่งลำพังเพียง "น้ำฝน" ไม่สามารถทำให้เป็นหวัดได้ เพียงแต่ในเวลาที่ฝนตกจะมีทั้งลมทั้งฝนที่อาจพัดพาเชื้อไวรัสมาในอากาศ ทำให้เราเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสในอากาศจากที่โล่งแจ้ง อีกทั้งในเวลาที่ฝนตก อุณหภูมิในตัวเราลดลงจากลมฝน ศีรษะ เสื้อผ้า รองเท้าเปียกชื้นอยู่เป็นเวลานาน นี่ต่างหากที่ทำให้เราเป็นหวัดได้ ซึ่งในที่ที่อุณหภูมิต่ำนี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้ไวรัสบางสายพันธุ์เจริญเติบโตได้ดี ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะบางคนที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ ก็จะยิ่งทำให้ป่วยได้ง่ายกว่าปกติ
ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากไข้หวัด
ในช่วงฤดูกาลที่อากาศเปลี่ยนแปลงแบบนี้ การดูแลตัวเองให้ห่างจากโรคไข้หวัดเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อฝนตกควรหาที่ร่มหลบลมและฝน หลีกเลี่ยงการตากฝน แต่หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เมื่อกลับถึงบ้าน ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้ง และอย่าลืมการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย เริ่มจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายและยังทำให้ฟื้นฟูจากอาการไข้หวัดได้เร็วขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลศิริราช ได้ชี้แหล่งอาหารที่รับประทานแล้วมีส่วนช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกัน ต่อสู้ไข้หวัดที่มาพร้อมกับหน้าฝนได้ ดังนี้
1.กลุ่มผักและผลไม้หลากสี แนะนำให้รับประทานผักและผลไม้ให้หลากหลายสี เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินและสารพฤกษเคมีที่แตกต่างกัน ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพอ สามารถทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการต่อสู้กับโรคหวัดได้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน หรือ 5 หน่วยบริโภค
ผักที่แนะนำ เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ปวยเล้ง ดอกกะหล่ำ หัวไชเท้า บร็อกโคลี ผักกวางตุ้ง แนะนำให้นำไปลวกหรือนึ่ง 1 ถึง 3 นาที กระเทียม แนะนำให้รับประทานแบบสด ทุบ หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ จะทำให้ได้รับสารพฤกษเคมีมากที่สุด นอกจากนั้น แครอต ฟักทอง พริกหวาน มะเขือเทศ ยังเป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ไม่แนะนำให้รับประทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอดได้
ผลไม้ที่แนะนำ เช่น ส้ม กีวี่ หรือผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่ เช่น สตรอว์เบอร์รี่ เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ องุ่นแดง ที่มีวิตามินซีสูง มีส่วนช่วยในการเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย หากรับประทานวิตามินซีในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพออย่างน้อย 2 ลิตรต่อวันเพื่อป้องกันการเกิดโรคนิ่วในไต
ทั้งนี้ การกินผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) อาทิ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ลดเบาหวาน ความดัน และลดน้ำหนักได้ เป็นต้น โดยปัจจัยที่สำคัญอีกข้อ คือการเลือกผักปลอดสารพิษ โดยเลือกผักเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกในดินตามธรรมชาติ ไม่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือผักไฮโดรโปนิกส์ที่ปลูกในสารละลายที่ให้สารอาหารหรือปุ๋ยน้ำ แต่ไม่ว่าจะเป็นผักชนิดใดก็ตามควรนำไปล้างให้สะอาดก่อนเสมอ
2.กลุ่มเนื้อสัตว์ เนื่องจากในเนื้อสัตว์มีสังกะสี (Zinc, Zn) ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์มากกว่า 200 ชนิด เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหลายระบบ เช่น ระบบภูมิคุ้มกันโรค แหล่งอาหารที่พบ เช่น หอย เนื้อหมู เนื้อวัว สัตว์เนื้อแดง มีงานวิจัยบางส่วนชี้ว่าอาจมีส่วนช่วยลดระยะเวลาและอาการของโรคไข้หวัดได้ในผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
โดยสรุป ไม่ใช่แค่อาหารหรือสารอาหารใดสารอาหารหนึ่งที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด การรับประทานอาหารที่ครบ 5 หมู่ และสมดุล ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย และการจัดการกับความเครียด จะช่วยให้ร่างกายพร้อมต่อสู้กับเชื้อโรค หรือโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฤดูนี้นอกจากสร้างความชุ่มฉ่ำแล้วยังมาพร้อมกับโรคภัยต่างๆ ที่มากับฝนที่ต้องระวัง อาทิ
โรคไข้เลือดออก ที่มักพบการระบาดได้บ่อยในหน้าฝน เกิดจาก"ยุงลาย" ที่เป็นพาหะของโรค ในแต่ละปียังมีคงผู้ติดเชื้อจำนวนมาก นอกจากหน้าฝนที่พบผู้ป่วยบ่อยแล้วยังพบการติดเชื้อนี้ได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ โรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา และไม่มีวัคซีนป้องกัน
โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร นอกจากจะพบได้บ่อยในหน้าร้อนแล้ว ในหน้าฝนก็สามารถพบโรคนี้ได้เช่นกัน โดยเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส อาหารที่ปรุงไม่สุกพอ หรืออาหารที่ค้างไว้หลายชั่วโมง
โรคมือเท้าปาก หน้าฝนเป็นฤดูที่พบการระบาดของโรคมือเท้าปากได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยติดต่อจากเชื้อไวรัสแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย
โรคตาแดง การระบาดของโรคตาแดงหรือโรคตาอักเสบพบได้บ่อยในหน้าฝนมากกว่าฤดูอื่นๆ เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตาเพราะติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง ไม่ติดต่อทางการสบสายตา หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน
โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนและสัตว์ โดยการติดเชื้อในคนจะมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว รวมถึงการสัมผัส หรือได้รับแบคทีเรียทางรอยแผลที่ผิวหนัง
โรคผิวหนัง แน่นอนว่าความอับชื้นที่มาพร้อมกับสายฝนอาจก่อให้เป็นผื่นผิวหนังได้ หากไม่ดูแลรักษาความสะอาดให้ถูกวิธีจะทำให้เกิดโรคผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมถึงผิวหนังอักเสบได้ โดยโรคผิวหนังที่พบบ่อยในฤดูฝน ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อรา ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง