การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองกลายเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งในอนาคตทรัพยากรธรรมชาติอาจจะหมดไป ในขณะที่เรากลับทิ้งทรัพยากรสำคัญให้กลายเป็นขยะไปอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบต่อสัตว์ สิ่งมีชีวิต มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่ได้รับการกำจัดที่ถูกวิธี นี่จึงเป็นที่มาว่าเพราะเหตุใดเราต้องคำนึงถึงการหมุนเวียน และรีไซเคิลทรัพยากรที่เราใช้ให้กลับมามีประโยชน์อีกครั้ง เพื่อที่จะลดหรือไม่ต้องไปใช้ทรัพยากรใหม่เพิ่มเติม
ในวันที่ 18 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันรีไซเคิลโลก” หรือ Global Recycling Day โดยจุดเริ่มต้นของ “วันรีไซเคิลโลก” มาจาก Global Recycling Foundation ที่เห็นความสำคัญของการรีไซเคิล จึงพยายามสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม มองสิ่งที่ทุกคนทอดทิ้งให้เป็นโอกาสให้กับผู้คนหลายล้านคน จนในปี 2561 องค์การสหประขาชาติได้ยอมรับอย่างเป็นทางการ และกำหนดให้มี “วันรีไซเคิลโลก” ขึ้นมาในปี 2561 เพื่อช่วยให้ผู้คนตระหนักและเฉลิมฉลองให้กับความสำคัญของการรีไซเคิล ในการรักษาทรัพยากรหลักอันมีค่าของเราและรักษาโลกอนาคต
เชื่อหรือไม่ สถิติที่ผ่านมา คนไทยสร้างขยะ 1.2 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งประเทศมีขยะมูลฝอยรวมกว่า 25.7 ล้านตันต่อปี
ขยะมูลฝอยคือขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของเราในชีวิตประจำวัน ทั้งขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไปที่ย่อยสลายยากไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2565 ประเทศไทยมีปริมาณ 25.7 ล้านตัน โดยเฉลี่ยมีคนทิ้งขยะวันละ 1.2 กิโลกรัมต่อคน ในขยะทั้งหมด 25.70 ล้านตันนี้ มีขยะที่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือรีไซเคิลเพียง 8.8 ตัน หรือร้อยละ 34.2 เท่านั้น
และในจำนวนขยะกว่า 25 ล้านตันนี้ มีขยะที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 9.8 ตัน หรือร้อยละ 38.1 ซึ่งถูกต้องหมายความนำไปหมักทำปุ๋ย เผาเอาเชื้อเพลิงพลังงาน หรือฝังกลบถูกหลักวิชาการ ส่วนที่เหลือเป็นขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธีกว่า 7.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 27.6 หมายความว่าอาจถูกกำจัดในเตาเผาขยะที่ไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ เทกอง เผากลางแจ้ง นำไปฝังกลบรวมกับขยะอื่นๆ หรือไม่ก็อาจถูกทิ้งไว้กลายเป็นสิ่งตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นชัดเลยว่าขยะที่เราสร้างขึ้นนั้นถูกนำกลับมาใช้ใหม่น้อยมาก
ขณะที่ในปี 2566 มีงานวิจัยจาก The Circulate Initiative เปิดเผยว่า หากประเทศไทยสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องได้ทั้งหมดภายในปี 2573 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 27.9 ล้านตันเลยทีเดียว
ทรัพยากรธรรมชาติของโลกทั้ง 6 สิ่งที่สำคัญ ได้แก่ น้ำ อากาศ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และแร่ธาตุ เหล่านี้แสดงถึงรากฐานของการดำรงชีวิต ซึ่งมนุษยชาติไม่สามารถอยู่รอดได้หากปราศจากทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรเหล่านี้มีจำกัดและหมดลงได้ จากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ระมัดระวังโดยไม่คิดว่าจะมีอะไรมาทดแทน สวนทางกับขยะหลายพันล้านตันที่ถูกเทลงในหลุมฝังกลบทุกปี ด้วยเหตุนี้ Global Recycling Foundation จึงกำหนดให้ "วัสดุรีไซเคิล" เป็น "ทรัพยากรที่ 7" (The Seventh Resource) ซึ่งสามารถนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
เนื่องในวันรีไซเคิลโลก Nation STORY อยากรณรงค์ให้ทุกฝ่ายช่วยกันจัดการปัญหาขยะ เปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งให้เป็นสิ่งต้องเอ๊ะ!! เริ่มต้นได้ง่ายๆ ที่ตัวเรา โดยจะพาทุกคนมารู้จักกับ “สัญลักษณ์ของพลาสติก” ประเภทต่างๆ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้และพบเจอได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน มาดูกันว่าเราสามารถแยกทิ้งยังไงได้บ้าง
ขวดพลาสติก
ก่อนทิ้ง! ควรเทน้ำออกจากขวดให้หมด ล้างทำความสะอาดเล็กน้อย และบีบให้แบนแยกไว้เป็นกลุ่มๆ
ถุงพลาสติก
ทุกวันเราใช้ขวดพลาสติกมากแล้ว ถุงพลาสติกใช้มากกว่าอีก เพราะเป็นสิ่งจำเป็นใช้บรรจุของต่างๆ มากมาย หากจัดการก่อนทิ้งไม่ดีจะนำไปรีไซเคิลต่อได้ยากมาก แต่ไม่ต้องห่วง เรามีวิธีสังเกตง่ายๆ
ก่อนทิ้ง! ควรล้างคราบสกปรกออกและเช็ดให้แห้ง แต่หากมีวัสดุอื่นติดมาด้วยอย่าง เทปกาว ให้แกะแยกออกก่อนทิ้ง
กล่องพลาสติก
กล่องพลาสติกก็เป็นอีกหนึ่งประเภทที่ใช้เป็นประจำ วันไหนรีบๆ ก็ต้องสั่งเดลิเวอรี่มาส่งอาหารและก็มาพร้อมกับกล่องพลาสติกให้เรามาแยกก่อนทิ้ง ซึ่งมีวิธีสังเกตง่ายๆ มากเลย
ก่อนทิ้ง! ควรล้างคราบสกปรกออกให้หมด จากนั้นเช็ดหรือตากให้แห้ง ถ้ามีเทปกาวหรือวัสดุอื่นติดอยู่ ให้แกะออกก่อนแยกทิ้งด้วย
ช้อนส้อมพลาสติก
ช้อนส้อมพลาสติกที่มาคู่กับบรรภัณฑ์อาหารที่สั่งเดลิเวอรี่มา ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าแยกทิ้งไม่ดีก็ก่อเกิดขยะได้มหาศาลเลยทีเดียว ซึ่งหลักๆ จะแบ่งเป็น 2 ประเภทพลาสติกให้เราแยกทิ้ง
ก่อนทิ้ง! แบ่งเป็นกลุ่มให้ชัดเจน ล้างทำความสะอาดและตากให้แห้งก่อนทิ้งนั่นเอง
แน่นอนว่าการรีไซเคิลอาจจะไม่ได้แก้ไขปัญหาขยะที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ 100 % เพราะก็ยังมีขยะบางชิ้นที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แต่อย่างน้อยมันก็คงดีกว่าปล่อยให้ขยะพวกนี้ต้องไปกองรวมกันอยู่ที่หลุมฝังกลบขยะ ทับถมรวมกันเป็นภูเขาขยะมหึมาจนกลายเป็นมลพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม