svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประธานกกต." ยังไม่ส่งหนังสือเตือน “ทักษิณ” หาเสียงเกินอำนาจท้องถิ่น

"ประธานกกต." เผยคืบหน้า ปมตรวจสอบ "ทักษิณ " หาเสียงเกินอำนาจท้องถิ่น ผิดหรือไม่ต้องดูแต่ละกรณี แนะหาเสียงอยู่ในขอบเขตกฎหมาย จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครร้อง อดีตนายกฯ

10 มกราคม 2568  "นายอิทธิพร บุญประคอง" ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีปราศรัยช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งสมาขิก และนายก อบจ. โดยพูดถึงภาพใหญ่ของนโยบายรัฐบาล และหลังจากนั้นรัฐบาลก็รับลูก สามารถทำได้หรือไม่ ในเวทีของท้องถิ่น โดยมองว่า การพูดถึงนโยบายโดยบุคคลใดก็ตามที่เป็นปัญหาเลือกตั้งท้องถิ่น กับการหาเสียงตั้งท้องถิ่น มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันได้ แต่จะถึงขั้นผิดหรือไม่ ให้ตอบตอนนี้คงไม่ได้ เพราะจะสับสนและไขว้เขว

ดังนั้นผู้สมัคร ผู้ช่วยหาเสียง ก็ต้องมีบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการที่จะทำอะไร ให้มั่นใจว่าทำไปแล้วไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย และอย่าลืมว่ามีมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. ที่กำหนดว่า พรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติ ให้เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองสามารถสอบถามมายัง กกต.ได้  กกต.มีหน้าที่ต้องตอบภายใน 30 วัน  ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง

แต่ก็เชื่อว่าผู้สมัคร และผู้ช่วยหาเสียง ตระหนักดีว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะก็มีคำวินิจฉัยว่าเป็นอย่างไร ที่เข้าข่ายหลอกลวง เสนอว่าจะให้ ก็ถือว่าการที่จะพูดอะไรบางอย่าง มันอาจจะไม่ตรงประเด็นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันเชื่อมโยงกันได้ อย่าเพิ่งไปรีบตัดสินว่าถูกหรือผิด ต้องดูพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเป็นกรณี

เมื่อถามว่า การที่"นายทักษิณ" ปราศรัยว่าจะลดค่าไฟจาก 4 บาทให้เหลือ 3 บาทกว่า น่าจะไม่ใช่อำนาจของ อบจ. ที่จะสามารถทำได้ "นายอิทธิพร" กล่าวว่า ท้องถิ่นเท่าที่จำได้ ก็มีหน้าที่ในการให้บริการและทำนุบำรุงสาธารณูปโภค อันนี้ก็คือสาธารณูปโภค มีหน้าที่อย่างนั้น แต่จะให้ไปตอบตอนนี้คงไม่ได้ อย่าลืมว่าคณะกรรมการ กกต. มี 7 คน

อิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.

ดังนั้นจุดเชื่อมโยงตรงไหนที่ว่าเป็นการพูดถึงนโยบายของตัวเองโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับการหาเสียง หรือเข้าข่ายหาเสียงหลอกลวง มันยังตอบจริงๆไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่พูด ต้องมาดู ก่อนหน้านี้ตนก็พูดไปแล้วว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ มันมีเส้นแบ่งอยู่เสมอ ต้องนำข้อเท็จจริงมาประกอบ แต่ถ้าเป็นไปได้ในเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ควรมุ่งเน้นที่นโยบาย ที่ผู้สมัคร มุ่งเน้นการดำเนินการเมื่อได้รับเลือกตั้ง ถ้าเกินขอบเขตอะไรไปแล้วมีคนร้อง ก็ต้องเอาเรื่องทั้งหมดมาดู

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปราศรัยช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงราย

เมื่อถามอีกว่า กกต. ควรต้องทำหนังสือเตือนหรือไม่ "ประธาน กกต." กล่าวว่า คงไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น เพราะผู้สมัครรู้ดีอยู่แล้วว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง เมื่อรับสมัครเสร็จแล้วก็จะมีการประชุมเชิงสมานฉันท์ แจ้งให้ทราบอยู่แล้ว ฉะนั้นผู้สมัครจะบอกว่าตัวเองไม่ทราบคงไม่ได้ ผู้สมัคร และ พรรคการเมือง มีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ขณะเดียวกันพรรคการเมืองก็ต้องดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะไม่เกิดปัญหาความก้ำกึ่งที่จะเป็นประเด็นขึ้นมา แล้วถ้าให้ กกต.พิจารณา ผู้สมัครเมื่อแต่งตั้งผู้ช่วยหาเสียงแล้ว ทั้งผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียง ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองพูดไป ผู้สมัครก็ต้องรู้ว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร ผู้ช่วยหาเสียงก็ต้องรู้ว่าผู้สมัครของตัวเองมีนโยบายอย่างไร และหาเสียงช่วยสนับสนุนในประเด็นที่เป็นอำนาจหน้าที่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด 

เมื่อถามว่า ขณะนี้ กกต.ได้จับตาจังหวัดไหนเป็นพิเศษหรือไม่ "นายอิทธิพร"  กล่าวว่า ทุกจังหวัด ผอ.กกต. ทำงานเรื่องของการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ปี 2561 ตระหนักในสถานการณ์ของจังหวัดตัวเอง อาจมีบางจังหวัดที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ให้การแข่งขันเป็นไปตามกฎกติกา เช่น จ.ปราจีนบุรี ทีมสอบสวนของ กกต. ก็จะลงพื้นที่ 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการแข่งขันจะอยู่ในกรอบกติกา ส่วนจังหวัดอื่นก็มีการพูดคุยกับผู้บังคับการตำรวจภูธร เป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งตำรวจเองก็ทราบว่าการแข่งขันแต่ละพื้นที่ว่ามีความเข้มข้นขนาดไหน ถ้าพื้นที่ไหนมีความเข้มข้นมาก ก็จะมีทีมงานของ กกต. ร่วมกับ ตำรวจ ก็จะเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่จนขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการหาเสียงของ "นายทักษิณ" เข้ามา