สัญญาณโลกเดือดไม่ได้ปรากฎแค่ในกระดาษ
ช่วงเวลานับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา เป็นครั้งแรกที่คนทั่วโลกรับรู้ถึงผลกระทบภัยโลกร้อนที่พุ่งทะยานขึ้นเรื่อบๆ จากอุณหภูมิโลกทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์มาโดยตลอดทุกเดือน จวบจนถึงเดือนตุลาคม ไฟป่ารุนแรงในหลายทวีป คลื่นความร้อนครั้งปรัวติศาสตร์ถล่มยุโรป และพายุรุนแรงที่พัดกระหน่ำหลายประเทศ ชี้ชัดว่าโลกกำลังเดือดของจริง
จาก 5 รายงานวิเคราะห์สถานะภูมิอากาศโลกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 โดย
• NASA’s GISTEMP
• NOAA’s GlobalTemp
• Hadley/UEA’s HadCRUT5
• Berkeley Earth
• Copernicus/ECMWF
เผยว่า โลกกำลังเดินหน้าสู่ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการตรวจวัดนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 หรือกว่า 100 ปีก่อนเป็นต้นมา และอาจเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบหลายพันปี โดยพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา สูงทำลายสถิติในปีก่อนๆ อย่างมาก
จากข้อมูลสรุปโดย Carbon Brief ที่ได้รีวิวทั้ง 5 รายงานวิเคราะห์ที่กล่าวมานี้ พบว่า
• เดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และมีแนวโน้มมากว่าเดือนตุลาคมนี้ จะเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึก
• ปี 2566 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
• ปรากฎการณ์เอลนีโญจะยังคงสถานะรุนแรงไปจนถึงกลางปี 2567 ส่งให้อุณหภูมิโลกในปีหน้าจะยังคงสูงผิดปกติ
• เดือนตุลาคมนี้มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นร้อนกว่าปกติมากเท่าเดือนกันยายน ที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกได้พุ่งทะลุ 1.8 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบก่อนช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
• การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมหาสมุทรก็พุ่งสูงจนสร้างสถิติใหม่ในเดือนกันยายนเช่นกัน โดยพบว่ามหาสมุทรกำลังร้อนขึ้นอย่างมากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
• พืดน้ำแข็งทะเลขั้วโลกกำลังหดตัวอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ภายใต้ความร้อนของอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้น
• การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในปีนี้ สอดคล้องกับการพยากรณ์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ย้ำชัดว่าภาพการณ์อนาคตที่เลวร้ายเมื่อโลกยิ่งร้อนขึ้น อาจเกิดขึ้นจริง
สาเหตุโลกร้อนสุดขั้วในปี 66
จากการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาตร์จากสถาบันชั้นนำทั่วโลก ระบุว่า ต้นตอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างรวดเร็วในปี 2566 เป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากทั่วโลกยังคงปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ประกอบกับสถานการณ์เอลนีโญในปีนี้ ที่ส่งแรงให้ภูมิอากาศทั่วโลกมีความร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น
อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมดวงอาทิตย์ในรอบ 11 ปี และการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในช่วงปีที่ผ่านมา ก็มีส่วนในการทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงอย่างรวดเร็วในปีนี้เช่นกัน
ในขณะที่ภาพการณ์สภาวะภูมิอากาศโลกในช่วงปีหน้ายังคงมีแนวโน้มอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้น จากสถานการณ์ปรากฎการณ์เอลนีโญที่ยังคงความรุนแรงจนถึงช่วงกลางปีหน้า
ขอขอบคุณที่มาข้อมูล: Carbon Brief