ปลาหมอคางดำ กำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในระดับภูมิภาค ภายหลังปลาสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานจากแอฟริกาชนิดนี้ ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนล่าสุดพบระบาดไปถึง จ.สงขลา แล้ว เป็นเหตุให้ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาแสดงความกังวลว่า ถ้าไม่มีการกำจัดปลาสายพันธุ์อันตรายชนิดนี้ให้หมดไป ในอนาคตเราอาจไม่เหลือปลาชนิดอื่นให้กินนอกจากปลาหมอคางดำ
รู้จักความร้ายกาจของปลาหมอคางดำ
ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ Cichlidae เช่นเดียวกับปลาหมอเทศ มีถิ่นกําเนิดในทวีปแอฟริกา มีถิ่นอาศัยตามธรรมชาติบริเวณพื้นที่น้ำกร่อยปากแม่น้ำ สามารถทนทานความเค็มได้สูง พวกมันจึงพบแพร่กระจายตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป
จากข้อมูลของกรมประมง รายงานว่า มีการนำเข้าปลาหมอคางดำมาเพาะเลี้ยงในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553 อย่างไรก็ตาม ราวปี 2557 เริ่มพบมีการระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติใน จ.สมุทรสงคราม ก่อนที่ต่อมาจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วตามแนวชายฝั่ง จนขณะนี้มีขอบเขตการระบาดครอบคลุมไปถึงอ.ระโนด จ.สงขลา แล้ว
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืดของไทย เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะมีการระบาดของสัตว์สายพันธุ์รุกรานต่างถิ่นหลายชนิด แต่ไม่มีชนิดใดที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศรุนแรงและเป็นวงกว้างเทียบเท่ากับ ปลาหมอคางดำ เพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาที่กินสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดอื่นๆ เป็นอาหาร และสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก จนเป็นภัยร้ายแรงต่อทรัพยากรประมงและความหลากหลายทางชีวภาพ
ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่กินทุกอย่าง ดังนั้นเมื่อมันแพร่ระบาดไปที่ไหน พวกมันสามารถยึดครองแหล่งน้ำและทำลายสายพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่น รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ให้หายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อหลุดเข้าไปยังนากุ้ง พวกมันสามารถกินกุ้งที่เลี้ยงไว้จนหมดบ่อ สร้างความเสียหายรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจภาคประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
“จากอัตราการแพร่ระบาดที่เห็น ผมคิดว่าปลาหมอคางดำจะระบาดไปไกลถึงสิงคโปร์ภายในอีก 5 ปี และจะกระจายไปถึงชายฝั่งอันดามันภายใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นปลาหมอคางดำจึงเป็นตัวอันตรายต่อทั้งระบบนิเวศ เศรษฐกิจชุมชน และความมั่นคงทางอาหารต่อทั้งภูมิภาค” ดร.ชวลิต กล่าว
“การกำจัดอย่างเจาะจงชนิดและบ้าคลั่ง น่าเป็นหนทางเดียวที่หยุดยั้งภาวะคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ รสชาติของปลานี้คือ แค่พอกินได้ ต้องทำเป็น แต่เป้าหมายหลักคือ กำจัดให้หมด เรื่องเอามาทำอะไรใช้สอย คือผลพลอยได้”
เปิดเมนูสู้ปลาหมอคางดำ
ถึงแม้ว่าปลาหมอคางดำจะมีลักษณะคล้ายปลาหมอ ปลานิลก็ตาม แต่ว่ามีเนื้อน้อยกว่า ตัวเล็กกว่า และรสชาติไม่อร่อยเท่า ปลาหมอคางดำจึงเป็นไม่นิยมในการนำมาบริโภคนัก อย่างไรก็ตาม การกวาดล้างปลาหมอคางดำเอามาทำอาหาร ดูจะเป็นทางออกที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการยับยั้งการระบาดของปลาสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานชนิดนี้
ที่ผ่านมา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีการระบาดของปลาหมอคางดำอย่างหนัก ได้มีการส่งเสริมให้นำปลาหมอคางดำ นำมาประกอบอาหารหลายรูปแบบ อาทิ ปลาแดดเดียว, ปลาทอดกระเทียม, ต้มยำ, ปลาร้าทอด เพื่อสร้างรายได้ และยังนำไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารให้ผู้ต้องขังในเรือนจำกลางสมุทรสงครามได้รับประทาน
ล่าสุด ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ริเริ่มทดลองให้นิสิตประจำภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นอาหาร ภายใต้คอนเซป “เมนู…กู้แหล่งน้ำ” เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของปลาหมอคางดำ และส่งเสริมให้คนทั่วไปหันมาบริโภคปลาหมอคางดำมากขึ้น
สำหรับรสชาติของปลาหมอคางดำ คอมเม้นจากเพจ หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong ระบุว่า ปลาสดมีกลิ่นคาวกว่าปลานิล กลิ่นคล้ายๆ ปลาแปบ นำมาแล่ทอดกรอบ จิ้มน้ำจิ้มซีฟู๊ด รสชาติดี ไม่มีก้างฝอย
ในขณะที่ เฟซบุ๊กของ Nattawut Chotsuwan เผยว่า ชาวบ้านใน อ.ระโนด จ.สงขลา พื้นที่ระบาดใหม่ของปลาหมอคางดำ ไม่ได้กังวลกับการระบาดเท่าใดนัก เพราะชาวบ้านสามารถจับปลาสดมาขายได้ราวๆโลละ 30-40 บาท หรือถ้าทำปลาแดดเดียว สามารถขายได้ถึงราคากิโลละ 150 บาท แถมมีคนสั่งออเดอร์จนไม่พอขาย ทุกคนแถวนี้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อยไม่แพ้ปลานิล
อย่างไรก็ตาม ดร.ชวลิต ย้ำว่า การไล่จับปลาหมอคางดำมาทำอาหาร เป็นเพียงแค่มาตรการเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องทำคือ การหาช่องทางทางกฏหมายและช่องทางอื่นๆ ในการกำจัดปลาหมอคางดำให้สิ้นซาก และให้ผู้นำเข้าต้องมารับผิดชอบ เป็นมาตรการเร่งด่วน