25 สิงหาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบหมายให้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 18 (COP-18) ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 10 ประเทศ และสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดี คพ. เปิดเผยว่า ประเทศไทย โดย ทส. ผลักดันยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR SKY Strategy) และขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจอาเซียน ในการประชุมข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 18 ซึ่งมีแนวคิดที่จะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยังยืน ด้วยการสร้างมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และดึงกลุ่มนักธุรกิจเข้าร่วมด้วยการสร้างแรงจูงใจให้หยุดการเผาในที่โล่ง ซึ่งประเทศไทยเสนอแนวคิดบนหลักของ BCG เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นผู้ริเริ่มในการจัดทำโครงการ CACA ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนเกาหลีใต้ โดยจะขยายเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ สร้างระบบฐานข้อมูล สร้างระบบการรายงานข้อมูล รวมทั้งการพยากรณ์อากาศเพื่อใช้ในการวางแผนการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก ได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้
1) รับทราบการประชุมหารือระหว่างผู้นำ 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว เมียร์นมา ซึ่งได้เห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR SKY Strategy) ตามที่ประเทศไทยเสนอ โดยจะร่วมกันผลักดันการทำงานเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาในที่โล่งอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางจัดการเกษตรในพื้นที่สูง ร่วมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน
2) เห็นชอบกับเอกสารต่อไปนี้โรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันฉบับที่ 2 ปี 2566 – 2573 ยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ป่าพรุอาเซียนฉบับที่ 2 ปี 2566 - 2573 กรอบการพัฒนาการลงทุนในอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน ที่จะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน
3) รับทราบการคาดการณ์สภาพอากาศและสภาพอุตุนิยมวิทยา โดยศูนย์เชี่ยวชาญอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียน ซึ่งรายงานว่าภูมิภาคอาเซียนอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งมากกว่าปีที่แล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4)เอกสารการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนซึ่งอยู่ในข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยสาธารณรัฐอินโดนีเซียคาดว่าจะสามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นทางการภายในปีนี้
สุดท้าย ทุกประเทศยืนยันที่จะร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป และในปี 2567 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 19 (COP-19)