svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

กำหนดชะตา Carbon Neutral สิ่งบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน หรือแค่การฟอกเขียว!

รัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบคุมเข้มสินค้าติดโลโก้ Carbon Neutral เพื่อบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ชี้อาจเป็นเครื่องมือ Greenwashing ต้องปกป้องสิทธิ์ผู้บริโภคจากแบรนด์ฟอกเขียว

บริษัทผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายต่างใช้ประโยชน์จากความอ่อนไหวของผู้บริโภคต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม และความเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเพื่อความยั่งยืน โดยการติดฉลาก Carbon Neutral บนผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่ออ้างว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็น "ผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน" มีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกำลังส่งสัญญาณเตือนผู้บริโภคว่าฉลากจำนวนมากเหล่านี้อาจเป็นการ Misleading และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้

กำหนดชะตา Carbon Neutral สิ่งบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน หรือแค่การฟอกเขียว!

Test Achats หรือ Test Aankoop องค์กรเพื่อผู้บริโภคที่ไม่แสวงหากำไรของเบลเยียม ซึ่งส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค และ Carbon Market Watch ซึ่งเป็นกลุ่ม Climate Think Thank มีความเห็นและข้อโต้แย้งว่าการติดฉลากของผู้ผลิตจำนวนมากที่ต้องการสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ด้วยโลโก้ "Carbon Neutral" เพื่อระบุว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดได้รับการชดเชยนั้นเป็น "การฟอกเขียว (Greenwashing)" เนื่องจากข้อความหรือการติดฉลากดังกล่าวยังไม่สามารถยืนยันหรือพิสูจน์ความจริงได้

Gwendolyn Maertens ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการของ Test Achats กล่าวว่า คำกล่างอ้างว่าผลิตภัณฑ์มีความเป็นกลางทางคาร์บอนทำให้เกิดความรู้สึกต่อผลิตภัณฑ์ว่าไม่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาได้ถูกหักล้างหรือชดเชยทั้งหมดแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับประกันได้ ด้วยเหตุนี้ คำกล่าวอ้างนี้จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและเข้าใจผิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่รักษ์โลกและเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข้อความหรือคำกล่าวอ้างที่พบบนผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ ได้แก่ Carbon Neutral, Climate Neutral, Net Zero, 100% Carbon Offset เป็นต้น ซึ่งมักจะทำให้ผู้บริโภคสับสนในความจริง และไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสิ่งที่บริษัทต่างๆ กำลังดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศึกษาผลิตภัณฑ์ 13 รายการที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่กล่าวอ้างว่าเป็น Carbon Neutral รวมถึงกาแฟ พิซซ่า ชีส กล้วย และน้ำดื่มบรรจุขวด ผลการศึกษาดังกล่าวระบุผลลัพธ์ยืนยันว่าฉลากเหล่านี้ยังห่างไกลจากความน่าเชื่อถือ Climate Neutrality เป็นการกล่าวอ้างที่ได้มาจากการซื้อคาร์บอนเครดิต บริษัทผู้ผลิตจะบริจาคเงินให้กับโครงการทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการปลูกป่า เป็นต้น

องค์กรต่างๆ พบว่าระบบเครดิตนี้ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว ไม่มีการรับประกันว่าโครงการนั้นๆ จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จริง และการประเมินค่าการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถทำได้ง่ายและสูงเกินความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น กล้วยแบรนด์ Chiquita ที่กล่าวอ้างว่ากล้วยของบริษัทมีความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่านคาร์บอนเครดิตจากโครงการพลังงานลมในประเทศคอสตาริกา แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าพลังงานลมสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทั้งหมดหรือไม่อย่างไร และบริษัทก็ยังมีความคลุมเครือว่าการปล่อยก๊าซใดที่จะถูกชดเชย  Laura Clays

โฆษกของ Test Achats กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่ประสิทธิภาพของคาร์บอนเครดิตยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานยุโรปที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผลิตภัณฑ์สองชนิดที่ติดฉลาก Carbon Neutral แบบเดียวกันอาจมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมแตกต่างกันมากได้

ในปี 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการศึกษาเรื่องการกล่าวอ้างด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 53.3 ของการกล่าวอ้างด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรปมีความคลุมเครือ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มผู้บริโภค และไม่มีมูลความจริง

นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2566 Federal Public Service Economy (FPS Economy) ของเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจเบลเยียมให้มีประสิทธิภาพ แข่งขันได้ และมีความยั่งยืน ได้เปิดตัวแคมเปญเพื่อเตือนผู้บริโภคให้ทราบถึงลักษณะของการกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เข้าใจผิด หลังจากได้รับรายงานที่ไม่เป็นความจริงถึง 21 ฉบับในปี 2565

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบ Directive on Empowering Consumers for the Green Transition ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มสิทธิของผู้บริโภคโดยการแก้ไข Directive ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Commerical Practices Directive : UCPD) และ Directive เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค (Consumer Rights Directive : CRD) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ไม่ใช่ Greenwashing

กำหนดชะตา Carbon Neutral สิ่งบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน หรือแค่การฟอกเขียว!

สำหรับบทวิเคราะห์และความเห็น สคต. อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และต้องการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น แม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปก็ตาม แต่ผู้บริโภคต้องเผชิญกับแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัทผู้ผลิต อาทิ คำกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น Eco-Friendly และ Green หรือผลิตภัณฑ์มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เช่น Carbon Neutral, Climate Neutral, Net Zero Emission และ 100% Carbon Offset ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น หรือชำรุดเร็วกว่าที่คาดไว้ หรือซ่อมแซมยาก หรือแพงเกินไป

 

รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบ Directive on Empowering Consumers for the Green Transition เพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูล และทำให้ผู้บริโภคมีบทบาทในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) และคณะมนตรียุโรปได้เสนอห้ามการกล่าวอ้างทั่วไปด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทผู้ผลิตจะไม่ได้รับอนุญาตให้กล่าวอ้างหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือธุรกิจ หากการกล่าวอ้างนั้นไม่สามารถยืนยันได้โดยระบบการรับรอง (Certification Scheme) ที่สาธารชนสามารถเข้าถึงได้

และในอนาคตจะอนุญาตให้ใช้เฉพาะ "ฉลากความยั่งยืนที่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ" หรือ "มีการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรอง" หรือ "จัดตั้งโดยหน่วยงานของรัฐ" เท่านั้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้นและลดความสับสนของผู้บริโภค นอกจากการกล่าวอ้างแล้ว มาตรการเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เกี่ยวกับความทนทานของผลิตภัณฑ์ และความสามารถในการซ่อมแซมของผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการที่ผู้ค้าใช้เพื่อเปรียบเทียบความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ อายุการใช้งาน การรับประกันความทนทาน และข้อจำกัดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์

ผู้ประกอบการที่ต้องการทำการตลาด โฆษณา หรือกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะต้องคำนึงวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง และจะต้องมีระบบการตรวจสอบ สามารถพิสูจน์ได้ และได้รับการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานและมีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างจริง ควรมีการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน และมีการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าใจและเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ไม่ใช่เป็นเพียงการ "Greenwashing"

 

 

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก / กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์