ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบด้านมลพิษ สืบเนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และสมาคมอาร์นิก้า ได้เปิดตัวเว็บไซต์ “แผนที่มลพิษประเทศไทย” เพื่อให้ทดลองใช้ โดยแผนที่นี้จะแสดงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากของเสียอันตรายและมลพิษอุตสาหกรรม ซึ่งรวบรวมมาจากการติดตามสถานการณ์มลพิษในประเทศไทย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษในไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR โดยเร็วจะช่วยลดปัญหามลพิษที่กำลังทวีความรุนแรง และเป็นการส่งเสริมสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลมลพิษจากแหล่งกำเนิด ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการช่วยลดพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษให้น้อยลงได้
สำหรับเว็บไซต์แผนที่มลพิษประเทศไทย จัดทำขึ้นภายใต้โครงการร่วมของมูลนิธิบูรณะนิเวศ และสมาคมอาร์นิก้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อผลักดันสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการนี้ องค์กรทั้งสองได้ร่วมกันลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมในหลายภูมิภาคของประเทศ ก่อนจะส่งตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่ยุโรป ซึ่งผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นถึงการปนเปื้อนของสารมลพิษอันตรายหลายประเภท โดยเฉพาะโลหะหนัก และสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือ POPs ในหลายพื้นที่
“จากที่ได้ทำงานร่วมกันมาหลายปี เราทั้งสององค์กรได้รับรู้ว่า ประชาชนคนไทยหลายพื้นที่อาศัยอยู่ท่ามกลางมลพิษ ในขณะที่ประเทศของเรายังขาดระบบในการเผยแพร่ข้อมูลมลพิษเหล่านี้ให้สาธารณชนได้รับรู้ เราจึงได้สร้างแผนที่นี้ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแพร่หลายของมลพิษอุตสาหกรรมและของเสียอันตรายในประเทศ และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ รวมไปถึงริเริ่มการสร้างฐานข้อมูลที่อาจจะช่วยนำไปสู่การยับยั้งมลพิษ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว
ขณะนี้เว็บไซต์แผนที่ดังกล่าวยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ และจะมีการตรวจสอบและปรับปรุงเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ในปัจจุบัน ได้มีการเติมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมไปแล้ว 25 จุด อาทิ เหมืองแร่ทองคำ อ. วังสะพุง จ. เลย, แม่น้ำพอง อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น, จุดลักลอบทิ้ง ต. หาดนางแก้ว จ. ปราจีนบุรี, พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิลใน อ. เขาหินซ้อน จ. ฉะเชิงเทรา ฯลฯ โดยในอนาคตจะมีการเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอีกหลายจุด
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวทิ้งท้ายว่า แผนที่นี้ถือเป็นความพยายามของภาคประชาสังคมในการผลักดันสิทธิการเข้าถึงข้อมูลมลพิษของประชาชนคนไทย เนื่องจากปัจจุบัน แม้ว่าคนไทยจะถูกรายล้อมด้วยแหล่งกำเนิดมลพิษจำนวนมาก แต่เรายังไม่มีระบบที่จะบังคับให้แหล่งกำเนิดเหล่านี้ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษและของเสียที่ถูกปลดปล่อยออกมาหรือเคลื่อนย้ายไปกำจัด
คนไทยอาศัยอยู่ท่ามกลางความมืดบอดทางข้อมูล ซึ่งลำพังการมีแผนที่ที่จัดทำโดยองค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่มีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษของโรงงานและแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ย่อมไม่อาจเยียวยาปัญหานี้ได้
“สิ่งที่ประเทศไทยต้องการในขณะนี้คือ กฎหมายที่จะกำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ต้องรายงานข้อมูลมลพิษที่ตนปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงข้อมูลของเสียที่ตนส่งไปกำจัดหรือบำบัด ให้แก่หน่วยงานรัฐ รวมถึงให้หน่วยงานรัฐดังกล่าวรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่ไม่มีแหล่งกำเนิดชัดเจน เช่น ฝุ่น PM 2.5 และให้หน่วยงานรัฐนั้นเปิดเผยข้อมูลมลพิษดังกล่าวให้สาธารณชนได้รับรู้” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register)
ทั้งนี้ ในขณะนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมในประเทศไทย ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ร่างกฎหมาย PRTR ขึ้นมาแล้ว ในชื่อร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยองค์กรทั้งสามกำลังรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อจะนำเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
“เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก เราจึงขอแสดงเจตจำนงในการผลักดันให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงข้อมูลมลพิษด้วยศักยภาพที่เรามี และขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมลงนามสนับสนุนร่างกฎหมาย PRTR เพื่อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลมลพิษอย่างเป็นระบบต่อไปด้วย”