สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านพลังงานต่อสหภาพยุโรป ที่มีการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียอย่างมาก ทำให้หลายประเทศในสหภาพยุโรปเร่งดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อลดการพึ่งพาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
บรรดาสมาชิกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องใช้พลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 82 โดยหนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด 42.5% ของพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมดในแต่ละประเทศภายในปี 2030 ซึ่งก่อนหน้านี้สมาชิก EU เคยเห็นพ้องที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาเป็นสัดส่วนสำคัญในการผลิตพลังงานสะอาดราว 32% ของแต่ละประเทศสมาชิกภายในปี 2030 ก่อนที่จะขยับเป้าหมายใหม่มาเป็น 42.5% แม้ผู้แทนหลายประเทศใน EU จะเห็นควรให้ขยับเป้าหมายไปที่ 45% ก็ตาม
ปัจจุบันสมาชิก EU กำลังพยายามอย่างหนักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคเศรษฐกิจของตนเอง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพิงพลังงานจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป โดยมี 4 ประเทศที่แสดงเจตจำนงที่ต้องการเร่งการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดให้ได้ถึงร้อยละ 100 ภายในปีดังกล่าว ได้แก่
1) ประเทศโปรตุเกส
เมื่อเดือนเมษายน 2022 โปรตุเกสได้ประกาศที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดผ่านการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี ค.ศ. 2026 (ซึ่งเร็วกว่าแผนที่วางไว้ก่อนหน้านี้ถึง 4 ปี) โดยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแล้วอยู่ที่ร้อยละ 60 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนสูงที่สุดของสหภาพยุโรป
โปรตุเกสไม่เคยมีประวัติการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเหมือนประเทศอื่นในสหภาพยุโรป แต่นำเข้าจากไนจีเรียและสหรัฐ นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่ปลอดถ่านหินตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2021 อีกด้วย โดย EDP Renováveis ซึ่งเป็นบริษัทสาธารณูปโภครายใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศไอบีเรียตั้งเป้าที่จะจัดหาพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 100 ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ทั้งหมดนี้จะทำให้โปรตุเกสกลายเป็นปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี ค.ศ. 2030
2) ประเทศเนเธอร์แลนด์
จากข้อมูลรายงานที่เผยแพร่โดย Oliver Wyman ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ระบุว่าเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศผู้นำด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของสหภาพยุโรป โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งเป็นสองเท่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดให้ได้ 150 กิกะวัตต์ในทะเลเหนือภายในปี ค.ศ. 2050 เป็นปริมาณไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับชาวยุโรปจำนวน 230 ล้านครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม เนเธอร์แลนด์เองก็ได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ได้กลับไปใช้ถ่านหินเพื่อทดแทนการขาดแคลนจากวิกฤตพลังงาน
ถึงแม้ว่าเนเธอร์แลนด์มีเป้าหมายที่มุ่งมั่นที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดร้อยละ 100 ภายในปี ค.ศ. 2030 แต่แหล่งพลังงานทั้งหมดอาจไม่ได้มาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและแสงอาทิตย์ แต่จะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น นิวเคลียร์
3) ประเทศเดนมาร์ก
รัฐบาลเดนมาร์กยังคงวางแผนที่จะยกเลิกการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างสมบูรณ์และจะเพิ่มการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมขึ้นเป็น 4 เท่า แม้ว่าในระยะสั้นจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติอาจเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้ยุโรปเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียให้ได้ แต่เดนมาร์กยังคงระบุว่าแผนการยุติการผลิตในระยะยาวนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง เดนมาร์กได้ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ส่งออกพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย และตั้งเป้าที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 100 ภายในปี ค.ศ. 2030
4) ประเทศออสเตรีย
เมื่อปี ค.ศ. 2021 รัฐสภาออสเตรียได้เสนอกฎหมายชื่อว่า “Renewable Energy Sources Expansion Act (EAG)” ที่มีเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้าร้อยละ 100 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีการลงทุนราว 260 ล้านยูโรในการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา 1 ล้านหลังและเพิ่มสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและน้ำ รวมถึงการจัดตั้งงบประมาณพิเศษปีละ 1 พันล้านยูโรเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาดในการเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในปี ค.ศ. 2030
ทั้งนี้ ในภาคการขนส่ง ประเทศสมาชิก EU จำเป็นจะต้องมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 29% หรือสามารถลดความเข้มของก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งของตนเองได้อย่างน้อย 13% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลประเทศสมาชิก EU จำเป็นจะต้องเพิ่มสัดส่วนปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนราว 1.6% ต่อปี
นอกจากนี้ ภายในปี 2030 ไฮโดรเจนในกระบวนการทางอุตสาหกรรมของบรรดาสมาชิก EU จะต้องมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนถึง 42% ก่อนที่จะขยับเพดานให้สูงขึ้นเป็น 60% ภายในปี 2035
อย่างไรก็ตาม สมาชิก EU ยังเห็นพ้องให้สามารถปรับลดเป้าหมายของการใช้เชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมลงได้ราว 20% หากประเทศนั้นๆ มีการปรับลดการใช้ไฮโดรเจนที่ผลิตได้จากพลังงานฟอสซิลให้น้อยกว่า 23% ได้ภายในปี 2030 ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการวางแผนแนวทางและตั้งเป้าหมายใหม่ที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานยิ่งขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้