“ความเร็วและขนาดของสิ่งที่โลกเราได้ทำไปแล้ว ตลอดจนแผนการปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอที่จะจัดการกับสภาวะโลกที่กำลังรวน เหมือนกับว่าเรากำลังเดินไปช้าๆ ทั้งที่จริงแล้ว เราควรวิ่งแบบสุดแรงเกิด”
คำกล่าวของ โฮซึง ลี ประธานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ว่า โลกมีแนวโน้มที่จะก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสำคัญของภาวะโลกร้อนภายใน ข้าง10 ปีหน้า ซึ่งชาติต่าง ๆ จะต้องร่วมยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิสและเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดอย่างเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงเกินจนอยู่ในขั้นอันตราย เหมือนระเบิดเวลาที่กำลังตั้งนับถอยหลัง
รายงานระบุว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยคาดว่าจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ 2030 ในช่วงเวลาที่หลายประเทศยังคงเดินหน้าใช้งานถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นนัยสำคัญ เพราะภายใต้ความตกลงปารีสที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2015 แทบทุกประเทศตกลงที่จะสร้างความพยายามในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากอุณหภูมิความร้อนทะลุเพดานนั้นไปแล้วจะผลส่งให้เกิดหายนะทางธรรมชาติตามมา ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่รุนแรง น้ำท่วมหนัก ภัยแล้งสาหัส พืชผลเสียหาย และอาจมีสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ที่จะเริ่มสูญพันธุ์ด้วย อันเป็นสถานการณ์ที่มนุษย์ยากจะรับมือไหว ซึ่งตามสถิติพบว่า โลกในปัจจุบันมีอุณหภูมิสูงเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้วที่ 1.1 องศาเซลเซียส และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็สูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลว่าที่สุดนั้นเป้าหมายความตกลงปารีสจะประสบกับความล้มเหลวในอีกไม่ช้า
บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างเปิดเผยว่า การที่โลกก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างการปล่อยให้อุณหภูมิทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ถึงขั้นทำให้มนุษยชาติล่มสลาย แต่ความร้อนที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ เสี้ยวองศาเซลเซียส จะค่อยๆ ทำให้ภัยคุกคามที่มีต่อมนุษย์รุนแรงหนักขึ้นเป็นเงาตามตัว อาทิ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ผู้คนขาดสารอาหาร หรือคลื่นความร้อนแรงสูง ซึ่งหากเราปล่อยปละละเลยให้อุณหภูมิขยับขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้ว ความเลวร้ายก็จะเพิ่มขึ้นอีกจนผู้คนหลายสิบล้านคนทั่วโลกอาจจะเจอกับคลื่นความร้อนที่ถึงขั้นคร่าชีวิต ภัยน้ำแล้งจนไม่พอดื่มกินหรือใช้ในอุตสาหกรรม และเกิดอุทกภัยตามแนวชายฝั่ง แนวปะการังหายวับ ส่วนน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกอาจไม่มีเหลือในช่วงฤดูร้อน
ทางด้าน António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้งัดเอางานวิจัยชิ้นใหม่ออกมาจากการรวบรวมงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคน โดยรายงานฉบับนี้ได้เผยผลการประเมินที่น่าหนักใจที่สุดสำหรับสภาพอากาศที่เผยว่า มันไม่ได้ลดลง แต่มันกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ในครั้งไหน ๆ และเราจะต้องเผชิญหน้ากับผลที่ตามมา ที่จะอันตรายขึ้นและแก้ไขได้ยากมากขึ้น อาทิ ภาคการผลิตทั่วโลกปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 1% ในปีที่แล้ว (แค่ 1% ก็เยอะมากแล้ว) ความเข้มข้นของมลพิษคาร์บอนในชั้นบรรยากาศยังคงอยู่ในระดับสูงสุดเป็นเวลานานกว่า 2 ล้านปีแล้ว การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้นสูงที่สุดในรอบ 2,000 ปี การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเป็นพลังงานหลักของโลกกว่า 80% และ 75% ของมลพิษความร้อนของโลกเกิดจากฝีมือมนุษย์
กรณีตัวอย่างของการไม่ยุติเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
สหรัฐอเมริกา : ไบเดนไฟเขียวโครงการขุดเจาะน้ำมัน Willow หากดำเนินการ คาดจะผลิตน้ำมันได้มากพอที่จะปล่อยคาร์บอน 9.2 ล้านเมตริกตันต่อปี เทียบเท่ากับการขับรถยนต์ด้วยแก๊สกว่า 2 ล้านคันบนถนน
จีน : จีนกำลังวางแผนการขยายตัวครั้งใหญ่ของถ่านหิน และในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้มีการผลิตถ่านหินในพื้นที่ 82 แห่ง ซึ่งเท่ากับการเริ่มต้นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ 2 แห่งทุกสัปดาห์
ผลที่ตามมาหากแก้ไขไม่ได้
ผลกระทบแรกที่จะมาถึงจะกระทบต่อกลุ่มประเทศยากจนและประเทศเปราะบางที่เป็นผู้สร้างมลพิษน้อยสุด แต่ได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากไม่มีกำลังเพียงพอที่จะสร้างมลพิษ ในขณะเดียวกันก้ไม่มีความสามารถมากพอที่จะรับมือผลกระทบที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
สภาพอากาศแปรปรวนมากยิ่งขึ้น เช่น คลื่นความร้อนทำให้อากาศร้อนจัดในหลายประเทส พายุเกิดถี่ขึ้น ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง รวมทั้งการใช้ชีวิตของเราจะอันตรายและประสบภัยอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า มีโอกาสที่มนุษย์จะพลิกสถานการณ์ได้ โดยชาติอุตสาหกรรมใหญ่ทั้งหมดจะต้องผนึกกำลังกันลดการปล่อยก๊าซกระจกลงประมาณครึ่งหนึ่งจากระดับปัจจุบันภายในปี 2030 และหลังจากนั้นจะต้องยุติการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศอย่างสิ้นเชิงภายในช่วงต้นทศวรรษที่ 2050 หากเป้าหมายทั้งสองประการนี้สำเร็จ โลกจะมีโอกาสที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ราว 50% ทั้งนี้ รายงานย้ำด้วยว่า หากเราลงมือช้ากว่าที่กำหนดไว้ไปแค่เพียงไม่กี่ปี ก็มีแนวโน้มสูงที่จะทำให้โลกไปไม่ถึงจุดหมาย หรือรับประกันได้ว่าอนาคตโลกของเราจะร้อนระอุกว่าเดิม และเต็มไปด้วยภยันตรายมากขึ้น
source : nytimes / The climate time-bomb is ticking