svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เลือกตั้ง USA

จับตาเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา "เหตุการณ์ระดับโลกที่ต้องโฟกัส"

จับตาเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2567 "นักกวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด" วิเคราะห์ "เหตุการณ์ระดับโลกที่ต้องโฟกัส"

5 พฤศจิกายน 2567 "ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์" นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา(IFD)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2567 ที่มีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้

 

ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่สำหรับชาวอเมริกัน แต่ยังรวมถึงทุกประเทศทั่วโลก ด้วยบทบาทของสหรัฐฯ

 

ในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ หลังการเลือกตั้ง สามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังทุกภูมิภาค

 

การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่เพียงแค่เป็นการเลือกผู้นำคนที่ 47 ของสหรัฐฯ แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนที่สามารถกำหนดทิศทางของโลกในด้านเสถียรภาพและการพัฒนาในอนาคต ประเทศต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่อาจเกิดขึ้น

1. สถานการณ์ปัจจุบัน 
ผลสำรวจจากหลายสำนักชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่อาจเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา แม้จะมีพรรคการเมืองหลายพรรค แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงเป็นการแข่งขันระหว่างสองพรรคหลัก ได้แก่ พรรคเดโมแครต และ พรรครีพับลิกัน ซึ่งมีฐานเสียงและแนวทางการบริหารแตกต่างกันชัดเจน โดยรัฐที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตมักเรียกว่า “รัฐน้ำเงิน” ขณะที่รัฐที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันเรียกว่า “รัฐแดง”

 

เพื่อให้การคาดการณ์ผลเลือกตั้งแม่นยำมากขึ้น ต้องเน้นการสำรวจไปที่ “รัฐสมรภูมิที่สำคัญ” หรือ “สวิงสเตท” ซึ่งเป็นรัฐที่ประชาชนมีความเห็นทางการเมืองใกล้เคียงกัน ทำให้พรรคทั้งสองมีโอกาสชนะในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน รัฐสมรภูมิที่สำคัญในครั้งนี้ประกอบด้วย 7 รัฐ ได้แก่

1.เนวาดา

2.แอริโซนา

3.วิสคอนซิน

4.มิชิแกน

5.เพนซิลเวเนีย

6.นอร์ทแคโรไลนา

7.จอร์เจีย

รัฐเหล่านี้จะเป็นจุดชี้ขาดที่กำหนดผลการเลือกตั้งและทิศทางการเมืองของสหรัฐฯ

 

โดยรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดโดย CNN เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 แสดงให้เห็นว่า คามาลา แฮร์ริสมีคะแนนนำหน้าโดนัลด์ ทรัมป์เล็กน้อยในระดับชาติที่ร้อยละ 48 ต่อร้อยละ 47 

 

สำหรับสวิงสเตทที่มีการเปลี่ยนแปลงผลคะแนน เช่น เพนซิลเวเนีย ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงของเดโมแครต พบว่าทรัมป์มีคะแนนนำเล็กน้อยที่ร้อยละ 47.9 ต่อร้อยละ 47.6

 

ในขณะที่แฮร์ริสนำหน้าร้อยละ 1 ในรัฐมิชิแกนและวิสคอนซิน ด้านทรัมป์นำร้อยละ 1 ในเนวาดา และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2 ในจอร์เจียและนอร์ทแคโรไลนา รวมถึงนำร้อยละ 3 ในแอริโซนา ทั้งนี้ ในไอโอวา รัฐที่เคยสนับสนุนรีพับลิกัน พบว่าแฮร์ริสมีคะแนนนำทรัมป์ร้อยละ 3 ที่ร้อยละ 47 ต่อร้อยละ 44 

 

2. นโยบายสำคัญที่ใช้ชิงคะแนนเสียงของแต่ละฝ่าย
ทั้งแฮร์ริสและทรัมป์ต่างมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มต่างๆ โดยนโยบายของทรัมป์มีแนวทาง Conservative ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนธุรกิจและการควบคุมผู้อพยพ

 

ขณะที่นโยบายของแฮร์ริสมีแนวทาง Liberal ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน นี่คือนโยบายสำคัญที่ใช้ชิงคะแนนเสียงของแต่ละฝ่าย

 

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567 นโยบายของแฮร์ริสและทรัมป์มีความแตกต่างชัดเจน แฮร์ริสเน้นการเก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูงและการพัฒนาชุมชนเพื่อจัดการปัญหาผู้อพยพ ขณะที่ทรัมป์มุ่งมั่นลดภาษีและใช้มาตรการเข้มงวดในการกีดกันผู้อพยพ

 

แนวทางของแฮร์ริสมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความเสมอภาคและการพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมกลุ่ม ขณะที่ทรัมป์เน้นการปกป้องงานให้คนอเมริกันและการควบคุมการอพยพอย่างเข้มงวด

 

3. ผลกระทบของการเลือกตั้งสหรัฐฯต่อประเทศไทย
การเปลี่ยนผู้นำและนโยบายที่เป็นผลจากการเลือกตั้ง ส่งผลกระทบหลายด้านต่อไทย  ดังนี้

 

3.1 กรณีที่แฮร์ริสชนะ

นโยบายของแฮร์ริสมีลักษณะ Liberal ที่อาจเอื้อต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้ไทยได้รับโอกาสและประโยชน์ในประเด็นต่างๆ เช่น 


    
1) ไทยจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนความร่วมมือด้านการค้าในกรอบพหุภาคี ซึ่งจะเปิดโอกาสในการส่งออกและการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสีเขียว


2) ไทยจะได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีในการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด เนื่องจากแฮร์ริสจะผลักดันการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการเข้าร่วมข้อตกลงปารีส

 
3) ไทยจะได้รับการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงจากความสัมพันธ์ที่ดีกับอาเซียน และนโยบายการทูตที่เน้นความร่วมมือผ่านเวทีระหว่างประเทศ 


3.2 กรณีที่ทรัมป์ชนะ

 


นโยบายของทรัมป์มีลักษณะ Conservative ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทยในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น

 

1) ไทยจะได้รับผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษี รวมถึงข้อจำกัดทางการค้า ซึ่งจะทำให้โอกาสขยายตลาดในสหรัฐฯ ลดลง


2) ไทยต้องพึ่งพาการลงทุนจากคู่ค้าอื่นในการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด เนื่องจากทรัมป์จะลดการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม


3) บริษัทเทคโนโลยีที่ไทยทำธุรกิจร่วมกับสหรัฐอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากทรัมป์อาจลดงบประมาณสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและมุ่งเน้นการพัฒนาภายในสหรัฐฯ 


4) ไทยต้องรับแรงกดดันในการเลือกข้าง นโยบายที่เข้มงวดต่อจีนอาจทำให้ไทยต้องเลือกข้างหรือพิจารณาบทบาททางการทูตใหม่ และลดบทบาทของสหรัฐฯ ในองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยต้องพึ่งพาความร่วมมือในอาเซียนมากขึ้น

 

โดยสรุป ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2567 ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะของแฮร์ริสหรือทรัมป์ ล้วนมีผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศไทย นโยบายของผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไปจะกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สร้างทั้งโอกาสและความท้าทายที่ไทยต้องพร้อมรับมือ การปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทของไทยในภูมิภาคและเวทีโลก

 

ขอบคุณข้อมูลจาก "ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์" นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา(IFD) / [email protected] / www.drdancando.com / เฟสบุ๊ก Dr.Kriengsak Chareonwongsak เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์