svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

องค์กรผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูถล่มญี่ปุ่น คว้าโนเบลสันติภาพปี 2567

องค์กรผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูถล่มในญี่ปุ่น คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2567 จากความทุ่มเทตลอดหลายปีเพื่อทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ ประกาศในวันศุกร์ (11 ตุลาคม) ว่า นิฮง ฮิดังเกียว (Nihon Hidankyo) องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุมผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิในญี่ปุ่น ได้รับเลือกให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2567 สำหรับความพยายามที่จะทำให้โลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และการพิสูจน์ผ่านคำให้การของผู้รอดชีวิตว่า อาวุธนิวเคลียร์ไม่ควรถูกนำใช้อีกต่อไป และคณะกรรมการ คาดหวังว่า การเชิดชูเกียรติแก่นิฮง ฮิดังเกียว เป็นการยกย่องสำหรับผู้รอดชีวิตทุกคนที่ได้รับความทรมานทางกายและยังคงมีความทรงจำที่เจ็บปวด แต่เลือกบอกเล่าประสบการณ์เพื่อให้ความหวังแก่ผู้คน

สหพันธ์ญี่ปุ่นแห่งองค์กรผู้เสียหายจากระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเจน หรือ นิฮง ฮิดังเกียว ก่อตั้งในปี 2499 โดยกลุ่มผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง องค์กรมุ่งให้การสนับสนุนแก่เหยื่อจากระเบิดปรมาณูทั่วประเทศ และรณรงค์เพื่อให้พวกเขาได้รับการช่วยเหลือที่ดีขึ้น นอกจากนี้สมาชิกยังพยายามรณรงค์เพื่อให้ห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในทั่วโลก ตลอดจนเยือนหลายประเทศเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว

รูปปั้นสันติภาพนางาซากิ

โทชิยูกิ มิมากิ แสดงท่าทีประหลาดใจขณะแถลงข่าว หลังทราบผลรางวัลโนเบลสันติภาพ

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่บุคคลหรือองค์กรญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรีซาโตะ เอซากุ ร่วมรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2517 จากการลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และก่อนหน้านี้นิฮง ฮิดังเกียว เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหลายครั้ง

โทชิยูกิ มิมากิ หนึ่งในประธานของนิฮง ฮิดังเกียว ชมการถ่ายทอดสดประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่ศาลาว่าการเมืองฮิโรชิมา และกล่าวว่า เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ได้รับรางวัลนี้ และอยากไปเยี่ยมหลุมศพของผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งของนิฮง ฮิดังเกียว เพื่อแจ้งข่าวดีนี้ พร้อมทั้งบอกด้วยว่า องค์กรจะยืนหยัดรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และเพื่อให้เกิดสันติภาพยั่งยืนในโลก

ปีนี้มีบุคคล 197 คน และองค์กร 89 แห่ง ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ส่วนปีที่แล้ว นาร์กิส โมฮัมมาดี นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่าน ได้รับรางวัลจากการต่อสู้เพื่อยุติการกดขี่ข่มเหงต่อสตรีในอิหร่าน