การเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าของ อี อึน-ชอง วัย 38 ปี ที่อดีตคนรักที่เคยเป็นเพื่อนร่วมงานฆ่าหลังสะกดรอยตาม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการขาดการคุ้มครองในทางปฏิบัติ สำหรับเหยื่อของอาชญากรรมทางเพศ ภายใต้กฎหมายเกาหลีใต้ เพราะในกรณีของอี อดีตคนรักของเธอถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าใกล้เธอชั่วคราวด้วยซ้ำ แต่เขาก็ยังสามารถฆ่าเธอได้
ลีถูกแทงที่หน้าบ้านพักของเธอในอินชอน หลังจากพยายามจบความสัมพันธ์กบคนรัก ที่กลายมาเป็นฆาตกร เพราะเขามีพฤติกรรมชอบทำร้ายร่างกายเธอ โพสต์ในออนไลน์เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่อ้างว่าเป็นของครอบครัวของอี ระบุว่าอีได้รับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ เพื่อแจ้งเตือนตำรวจในกรณีฉุกเฉิน แต่ตำรวจกลับขอให้เธอคืนอุปกรณ์เพียง 4 วัน ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต และตำรวจปฏิเสธเรื่องนี้ในเวลาต่อมา
ในขณะที่การพิจารณาคดีเริ่มเมื่อวันที่ 19 กันยายน มีคนร่วมลงชื่อราว 44,000 รายชื่อ เรียกร้องใช้มาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดให้รุนแรงยิ่งขึ้น ท่ามกลางความวิตกพื้นฐานทางเพศที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากมีแนวโน้มที่ศาลมักจะบรรเทาโทษผู้กระทำความผิดในคดีความรุนแรงทางเพศ
คดีนี้ยังสะท้อนเหตุการณ์ "roundhouse kick" ที่ชายคนหนึ่งพยายามข่มขืนและฆ่าผู้หญิงในเมืองปูซาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 และชายคนนี้มีประวัติอาชญากรรมโชกโชน ผ่านการถูกพิพากษาลงโทษมาแล้ว 18 ครั้ง แต่กลับถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งเบากว่าโทษที่ฝ่ายอัยการเสนอไว้ที่ 35 ปี เหยื่อบอกว่า เธอเชื่อว่าผู้พิพากษาตัดสินโทษโดยคำนึงถึงภูมิหลังทางครอบครัวของผู้กระทำผิด โดยเฉพาะการหย่าร้างของพ่อแม่ของเขา
คดีนี้ได้รับความสนใจจากสื่อเป็นอย่างมาก หลังจากเหยื่อโพสต์ลงออนไลน์ในหัวข้อ "ฉันจะตายภายใน 12 ปี" และอธิบายว่า เธอกลัวว่าจะถูกฆ่าเมื่อคนร้ายได้รับการปล่อยตัวออกจากคุกและตามไปแก้แค้นเธอ และโพสต์นี้เป็นไวรัลหลังจากศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินลดโทษเขาเหลือ 12 ปี แต่เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นที่สนใจของสาธารณชน ศาลสูงสุดได้พิพากษายืนคำตัดสินของศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 20 ปี
นัม ออน-โฮ จากบริษัทกฎหมาย Vincent ที่เป็นทนายให้กับเหยื่อ "roundhouse kick" ให้ความเห็นว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างเป็นระบบของเกาหลีใต้ ในการลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ก่ออาชญากรรมบนพื้นฐานของเพศ
"การลงโทษขั้นรุนแรง (จำเป็น) สำหรับผู้ที่ก่ออาชญากรรมรุนแรง แต่อาชญากรเหล่านั้นกลับสามารถหลบเลี่ยงได้ โดยการป้องกันตัวเองด้วยปัจจัยลดหย่อนโทษ เช่น จดหมายขอโทษ ประวัติความเจ็บป่วยทางจิต และการพิสูจน์ว่าอาชญากรรมนั้นไม่ได้ไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า"
นัมบอกอีกว่า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ (ศาล) ควรจะเริ่มพิจารณาปัจจัยที่ทำให้บทลงโทษรุนแรงขึ้น ในระหว่างการพิจารณาคดี แทนที่จะพิจารณาปัจจัยที่จะลดหย่อนโทษ การได้รับโทษที่เบาลงอาจนำไปสู่อาชญากรรมลอกเลียนแบบเกิดขึ้นมากมาย ดังคดีข่มขืนแล้วฆ่าที่โด่งดังโดยฝีมือของชายชื่อ ชอย ยุนจอง เมื่อต้นปีนี้ ที่เหยื่อของเขาเป็นครูประถมที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ขณะเดินอยู่บนบาทวิถีในกรุงโซล
ดร. ลี ชาง-ฮยอน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายอาญา ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮันกุก ให้ความเห็นว่า การผ่อนปรนสำหรับอาชญากร อาจทำให้ความไว้วางใจของสาธารณชนต่อกลไกทางกฎหมาย และระบบป้องปรามอาชญากรรมของประเทศลดลงอย่างช่วยไม่ได้