หลังจาก Neuralink บริษัทสตาร์ตอัปเทคโนโลยีระบบประสาทของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของไอเดียนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ประกาศรับสมัครอาสาสมัครเข้าร่วมการทดสอบทางคลินิก "ฝังชิปในสมองมนุษย์" ตามแนวคิด "สายเชื่อมประสาท" (Neural lace) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 กันยายน ก็ปรากฎว่ามีเสียงเตือนด้วยความห่วงใยจาก ไรอัน เมิร์คลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการวิจัยของคณะกรรมการการแพทย์เพื่อการรักษาอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ PCRM (Physicians Committee for Responsible Medicine) ให้ระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะมีรายงาน "ที่ได้รับการบันทึกไว้อย่างดี" เกี่ยวกับพนักงานของบริษัท ที่ทำการทดลองอย่างลวก ๆ และเลินเล่อกับลิงและสัตว์อื่น ๆ และมีลิงจำนวนหนึ่งที่ตายไปในระหว่างการทดลอง
Neuralink ต้องการทำการทดลองทางคลินิก เชื่อมต่อสมองคนเข้ากับคอมพิวเตอร์ โดยเทคโนโลยีฝังขั้วไฟฟ้า ด้วยความหวังว่าการฝังชิปขนาดเล็กในสมอง จะช่วยในการรักษาช่วยผู้ป่วยอัมพาต, ผู้พิการทางการมองเห็น และช่วยเหลือผู้พิการผ่านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชนิดเคลื่อนที่ ซึ่งในการทดลองกับลิง ได้ใช้ชิปที่ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ตีความสัญญาณที่ส่งจากสมอง ก่อนถ่ายทอดข้อมูลไปยังอุปกรณ์ผ่านสัญญาณบลูทูธ
รายงานของนิตยสารวิทยาศาสตร์ "Popular Science" ระบุว่า โครงการทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ของนิวรัลลิงก์ ใช้เวลา 6 ปี และต้องการอาสาสมัครที่เป็นอัมพาต ทั้งยังสนใจเป็นพิเศษกับคนที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ( Amyotrophic Lateral Sclerosis) แต่แม้จะเป็นไอเดียเป็นความก้าวล้ำทางการแพทย์ แต่เมิร์คลีย์ก็เตือนให้อาสาสมัครคิดให้รอบคอบ โดยยกรายงานของ Wired ที่ระบุว่า มีลิงวอก (rhesus macaque) ที่ถูกใช้ในการทดลอง 12 ตัว ระหว่างปี 2560-0563 มีปัญหาแทรกซ้อนที่น่ากลัวจากการฝังอุปกรณ์ บางตัวมีปัญหาจากการปลูกถ่าย หรือจากความผิดปกติในการติดตั้งแผ่นไทเทเนียมและสกรูยึดกระดูก บางครั้งอุปกรณ์หลวมจนลิงหลายตัวติดเชื้อซ้ำ ๆ นอกจากนี้ยังมีลิงแสม (macaque monkeys) อีกหลายสิบตัว ได้รับบาดเจ็บจากการติดเชื้อเรื้อรัง อัมพาต สมองบวม และผลข้างเคียงที่น่าสะพรึงกลัวอื่น ๆ หลังจากได้รับชิป จนต้องถูกการุณยฆาตในที่สุด
ด้านอีลอน มัสก์ ได้โพสต์ลง X หรือชื่อเดิมคือทวิตเตอร์ ปฏิเสธว่า
"ไม่มีลิงตัวใดตายเนื่องจากการฝังชิป ขั้นแรกการปลูกถ่ายลิงในช่วงแรกของเรา เพื่อลดความเสี่ยงต่อลิงที่มีสุขภาพดี เราจึงเลือกลิงระยะสุดท้าย (ใกล้จะตายแล้ว)"
ทาง PCRM ได้ยื่นร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Commission) หรือ SEC แล้ว เพื่อให้เข้าตรวจสอบ Neuralink ในเรื่องความพยายามในการทำให้นักลงทุนเข้าใจผิด เกี่ยวกับประวัติการพัฒนาและความปลอดภัยของอุปกรณ์ ถ้า SEC เข้าดำเนินการตามที่ได้รับการร้องเรียน ก็จะเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่ Neuralink ถูกตรวจสอบเรื่องการทดลองกับสัตว์