บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี หรือ เทปโก (TEPCO) ยืนยันในวันศุกร์ (25 สิงหาคม) ว่า ผลการตรวจตัวอย่างน้ำทะเล หลังการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อวันพฤหัสบดี (24 สิงหาคม) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่มีความปลอดภัย โดยมีปริมาณความเข้มข้นของทริเทียมต่ำกว่า 10 เบ็กเคอเรลต่อลิตรใน 10 จุดที่มีการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล ขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยของประเทศอยู่ในระดับ 60,000 เบ็กเคอเรล
เทปโกเผยผลการตรวจวิเคราะห์น้ำ ที่เก็บจาก 10 จุดภายในระยะ 3 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเลในบ่ายวันพฤหัสบดี และบริษัทจะตรวจสอบน้ำทะเลทุกวันและเผยผลการวิเคราะห์ในวันรุ่งขึ้นตลอดหนึ่งเดือนข้างหน้า
ขณะเดียวกันกระทรวงสิ่งแวดล้อม ส่งเรือ 4 ลำไปเริ่มเก็บตัวอย่างน้ำทะเลใน 11 จุดภายในรัศมีเกือบ 50 กม. จากโรงไฟฟ้าในวันศุกร์ (25 สิงหาคม) และจะเผยผลการตรวจวิเคราะห์ในวันอาทิตย์หรือหลังจากนั้น รวมทั้งวางแผนเผยแพร่ข้อมูลที่รวบรวมจากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำทะเลทุกสัปดาห์เป็นเวลาราว 3 เดือน
ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ทริเทียมส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์น้อยกว่าสารกัมมันตรังสีอื่น ๆ เช่น ซีเซียม และสตรอนเทียม โดยมีการแผ่รังสีที่อ่อนมาก และไม่สะสมในร่างกาย
ขณะที่แผนการกำจัดน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ที่มีมากถึง 1.34 ล้านตันอาจใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปี
แม้ญี่ปุ่นพยายามยืนยันให้ความมั่นใจว่า แผนการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดลงทะเลเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่รัฐบาลจีนตัดสินใจระงับการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น โดยมีผลบังคับใช้ทันทีหลังญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำ
ความวิตกเรื่องน้ำทะเลอาจปนเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสี ทำให้ชาวจีนแห่ซื้อเกลือกักตุนไว้ และมีคลิปแพร่สะพัดในโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นลูกค้าพากันซื้อเกลือถุงใหญ่ที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในอำเภอเต้าเซี่ยน มณฑลหูหนาน
กลุ่มอุตสาหกรรมเกลือแห่งชาติ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน และผู้ผลิตเกลือรายใหญ่ที่สุดของจีน เรียกร้องให้ประชาชนอย่าแห่ซื้อเกลือกักตุนด้วยความแตกตื่น หลังจากเกลือถูกซื้อจนเกลี้ยงชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง และเกลือถูกซื้อจนหมดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในบางพื้นที่ รวมถึง ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้
บริษัท ระบุด้วยว่า ประชาชนบริโภคเกลือทะเลเพียง 10% ของเกลือทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือเป็นเกลือจากบ่อและทะเลสาบ ซึ่งปลอดภัยจากการปนเปื้อน