12 พฤศจิกายน 2567 "โพสต์ทูเดย์" ร่วมกับ "สปริงนิวส์" และ "สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ" (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดงาน งานสัมนา Thailand Smart City Expo 2025 "การจัดการเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและ AI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต" ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 6 โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ
เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย จากวิสัยทัศน์และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างเมืองอัจฉริยะที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาสิ่งแวดล้อมและการบรรลุเป้าหมาย "Net Zero" เรียนรู้จากประสบการณ์และบทเรียนจากการบรรยายของผู้บริหารระดับสูงองค์กรภาครัฐและเอกชนชั้นนำ ที่จะมาแบ่งปันแนวคิดและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรและผู้เข้าร่วมงานท่านอื่นๆ พร้อมรับชมการสาธิตและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ โดยงานปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมงานจำนวนมาก
"ดร.จุฬา สุขมานพ" เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ "EEC" กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นับว่าเป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจกต์ ครอบคลุมพื้นที่ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีเป้าหมายดึงการลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ไทย โดยเน้นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (BCG) และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ สนามบินอู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง
ข้อได้เปรียบสำคัญคือการอนุมัติรวดเร็วตามกฎหมายพิเศษของ "EEC" ซึ่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยมีแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ "EEC Capital City"ในแนวทาง"Smart-Green-Sustainable"ตั้งเป้าหมาย "Net Zero" ภายในปี 2050 และมุ่งสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำ"AI " มาพัฒนาเพื่อเก็บข้อมูลของเมืองนี้ สร้างเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สามารถนำไปต่อยอดการพัฒนาในอนาคต
"นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่าการพัฒนา "Smart City" ในกรุงเทพฯ มุ่งเน้นเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์ประชาชนเป็นหลัก ภายใต้นโยบาย "เมืองอัจฉริยะที่ฉลาดพอ" โดยเน้นประสิทธิภาพ โปร่งใส และเน้น "คน" เป็นหัวใจหลัก โครงการ Traffy Fondue ใช้ AI รับเรื่องร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชันเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ ยังเปิดข้อมูล Open Data เปิดเผยข้อมูลทุกรูปแบบ เป็น Machine Readable เข้าไปตรวจสอบ ติดตาม งบประมาณ นโยบายต่างๆ ได้ทั้งหมด ผ่านระบบออนไลน์ ลดเวลาการอนุมัติการก่อสร้าง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเดินทางที่สะดวก มุ่งสู่เมืองที่เป็นประชาธิปไตยและทุกคนเข้าถึงการแก้ปัญหาได้
"ผมคิดว่า "Smart City" ที่แท้จริง คือการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ประชาชนมีอำนาจ และเป็นประชาธิปไตยมาก ทุกคนสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเท่าเทียมกัน ถ้าเราโฟกัสในจุดเล็กๆ เราจะสร้าง Smart City ที่ตอบโจทย์ประชาชนได้"
ด้าน"นายประเสริฐ จันทรรวงทอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและสร้าง "Smart City"ผ่านการใช้"AI" พัฒนาประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน นโยบายหลักประกอบด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นคงของข้อมูล และพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล
โดยมี "กุญแจสามดอก" คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และพัฒนาความรู้ดิจิทัลแก่บุคลากร
โครงการ CDP (City Data Platform) จะเป็นระบบเก็บข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมือง 175 พื้นที่ทั่วไทย ขณะที่ AI จะนำมาช่วยพัฒนาสมาร์ทซิตี้ด้านการขนส่ง พลังงาน และการวางผังเมือง นอกจากนี้กระทรวงดีอียังร่วมกับ BOI ดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีจากบริษัทใหญ่ เช่น Google เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ไทยเป็นประเทศน่าอยู่ด้วยเทคโนโลยี