องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) เรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กดดันเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดิอาระเบีย ที่อยู่ระหว่างเยือนฝรั่งเศส ให้ทรงอภัยโทษชายหนุ่ม 7 คน ที่กำลังเผชิญโทษประหารชีวิตในความผิดฐานก่ออาชญากรรมตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นผู้เยาว์
มาครงได้ต้อนรับมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย หรือที่รู้จักกันในพระนาม MBS ที่ทำเนียบประธานาธิบดี หรือ ปาแล เดอ เลลีเซ (Palais de l'Elysee) ในกรุงปารีส เมื่อวันศุกร์ (16 มิถุนายน 2566) ก่อนจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน พร้อมกับการหารือเรื่องสงครามในยูเครน, ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางและการประชุมสุดยอดที่สำคัญ คือ การประชุมสุดยอดเกี่ยวกับข้อตกลงทางการเงินใหม่ (Summit on a New Financial Pact) ที่จะมีขี้นระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2566
การเยือนของ MBS ยังมีขึ้นก่อนหน้าการประชุมด้านการลงทุนระหว่างฝรั่งเศสกับซาอุดิอาระเบีย ที่กรุงปารีสในวันที่ 19 มิถุนายน 2566 แต่อาจจะถูกบดบังด้วยประเด็นสิทธิมนุษยชน จากการที่ MBS ยังทรงเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในคดีอื้อฉาว "ฆ่าหั่นศพจามาล คาช็อกกี" คอลัมนิสต์ของวอชิงตัน โพสต์ เมื่อปี 2561 ที่สถานกงสุลของซาอุดิอาระเบีย ในนครอิสตันบุลของตุรกี และล่าสุดองค์การนิรโทษกรรมสากลได้เรียกร้อง ให้มาครงนำเรื่องนักโทษ 7 คน ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือนิกายชีอะฮ์ ที่กระทำความผิดตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี บางคนมีอายุเพียง 12 ปี และกำลังเสี่ยงที่จะถูกประหารชีวิตในเร็ว ๆ นี้ หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาก่อนหน้านี้
ในจำนวนผู้กระทำผิดทั้ง 7 คน มีอยู่ 6 คน ที่ถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ส่วนคนที่ 7 มีความผิดในข้อหาใช้อาวุธปล้นชิงทรัพย์และฆาตกรรม แต่องค์การนิรโทษกรรมระบุว่าพวกเขาได้รับการตัดสินโทษที่ไม่เป็นธรรม และถูกทรมานให้รับสารภาพ
ซาอุดิอาระเบียได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการประหารชีวิตสูงที่สุดในโลก เมื่อปี 2565 มีนักโทษถูกประหารชีวิต 196 คน เป็นจำนวนที่สูงที่สุดที่องค์การนิโทษกรรมสากล จัดทำรายงานประจำปีการประหารชีวิตในซาอุดิอาระเบียมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี