ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างวันที่ 15 -16 ธ.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ (Official Visit) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ตามรายละเอียดดังนี้
ในวันที่ 15 ธ.ค.67 เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur International Airport : KLIA) มาเลเซีย
ในวันที่ 16 ธ.ค.67 เวลา 09.00 น. พิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (Dataran Perdana) เมืองปูตราจายา มาเลเซีย
เวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมหารือแบบกลุ่มเล็กกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ณ ห้องทำงานนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (Dataran Perdana) เมืองปูตราจายา มาเลเซีย
เวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมประจำปี ครั้งที่ 7 ระหว่างนายกรัฐมนตรี และ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ณ ห้อง Bilik Mesyuarat Perdana ชั้น 3 สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (Dataran Perdana) เมืองปูตราจายา มาเลเซีย
เวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับมาเลเซีย จำนวน 2 ฉบับ ณ ห้อง Dewan Putra ชั้น 3 สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (Dataran Perdana) เมืองปูตราจายา มาเลเซีย
เวลา 11.20 น. การแถลงข่าวร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ณ ห้อง Dewan Putra ชั้น 3 สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (Dataran Perdana) เมืองปูตราจายา มาเลเซีย
เวลา 11.40 น. งานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและคู่สมรส เป็นเจ้าภาพ ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (Seri Perdana Complex) เมืองปูตราจายา มาเลเซีย
เวลา 16.30 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ
หารือประจำปี “สันติสุขและความเจริญร่วมกัน”
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของการเดินทางเยือนมาเลเซีย คือ เข้าร่วมการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation) ครั้งที่ 7 เพื่อย้ำเป้าหมายการสร้าง “สันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนทั้งสองประเทศ รวมทั้งผลักดันความร่วมมือในทุกด้านให้คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายการค้า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2570 และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ไปมาเลย์ก่อนเยี่ยมใต้ - น้ำท่วมส่งแค่ตัวแทน
เป็นที่น่าสังเกตุว่า นายกฯแพทองธาร เลือกที่จะเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีชายแดนติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ก่อนที่การเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้เสียอีก ทั้งที่ในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัยอย่างรุนแรงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวนายกฯจะลงพื้นที่ แต่ก็ยกเลิกกำหนดการ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงขั้นที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ต้องออกมาให้ข่าวทำนองว่า ไม่ได้ละเลยคนใต้ แต่ลูกสาวจะเดินทางไปเยี่ยมพี่น้องประชาชนแน่นอนในเร็ววันนี้
ขณะที่การลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย กลายเป็น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ไปปฏิบัติหน้าที่แทน
BRN ขู่ไทยเจรจาช้าระวังเจอต้านแรง
วันเดียวกัน กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์แสดงท่าทีต่อการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบีอาร์เอ็นใช้คำว่า “การแสวงหาแนวทางแก้ไขทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้งอันยืดยาวที่ปาตานี” ซึ่งบีอาร์เอ็นอ้างว่าตนมีความจริงจังในเรื่องนี้
เนื้อหาของการแถลงสรุปว่า ฝ่ายรัฐบาลไทยยังไม่มีความต่อเนื่องในการค้นหาแนวทางแก้ไขทางการเมืองเลย รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาก็ยังไม่แสดงจุดยืน นโยบาย ความใส่ใจที่ชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นความขัดแย้งที่ปาตานีเลย นี่เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังสำหรับทุกฝ่าย
แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นยังอ้างถึงกระบวนการเจรจาสันติภาพที่เริ่มต้นด้วยการลงนามในฉันทามติทั่ว (General Consensus) ในปี 2556 (ยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และได้รับการต่อยอดด้วยข้อตกลงความริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative) ในปี 2562 และหลักการทั่วไป (General Principles) ในปี 2565
และตอนนี้ บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยได้ตกลงกันว่า แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP เป็นแผนการสันติภาพที่ครอบคลุมและจะมีการพิจารณาประเด็นรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขทางการเมือง การปรึกษาหารือกับสาธารณะ และการหยุดยิง
บีอาร์เอ็นยังคาดหวังว่า การเดินทางเยือนมาเลเซียของนายกฯไทย และพบปะกับผู้นำมาเลเซีย จะสร้างพลวัตในการสร้างสันติภาพที่ปาตานี แต่ก็ทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลไทยมีท่าทีละเลย ไม่มีความจริงจังและความจริงใจในการแสวงหาแนวทางแก้ไขสำหรับความขัดแย้ง อาจจะเป็นชนวนสำหรับการต่อต้านของประชาชนปาตานีที่ร้ายแรงกว่า รุนแรงกว่า และไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป