ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอนาคต (Future Economy) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รัฐบาลอเมริกาเพิ่งประกาศกำแพงภาษีครั้งใหญ่ที่เปรียบเสมือนเป็น ‘แผ่นดินไหว’ ช็อคการค้าไปทั้งโลกก็ว่าได้ ทุกประเทศโดนภาษีอย่างน้อย 10% อีก 60ประเทศโดนภาษี ’หมัดสวน‘ (reciprocal tariff) ที่ประเทศไทยจะโดนถึง 36% สูงกว่าหลายประเทศ
อาฟเตอร์ช็อกของมาตราการครั้งนี้อาจจะรุนแรงและซับซ้อน เพราะ
- หลายประเทศอาจเลือกที่จะใช้ไม้แข็งตั้งกำแพงภาษีกลับ สู้กันไปมา ทำให้การค้าโลกโดยรวมทรุดกว่าที่คิด
- บางประเทศอาจเสี่ยงตกเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย (ความเสี่ยงของอเมริกาเองก็เพิ่มขึ้น)ทำให้
- เมื่อตลาดอเมริกาเหมือนจะกลายเป็น เมืองล้อมด้วยกำแพง ที่สินค้าเข้าไม่ได้หรือยากขึ้น ทุกประเทศก็จะคิดคล้ายๆกันคือต้องส่งออกไปตลาดอื่น ดังนั้นการแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นทั้งสำหรับการส่งออกของไทยในตลาดที่3 และสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ อาจทะลักเข้ามาในไทยมาขึ้น
- เดิมการลงทุนที่ไทยได้จากการหลบเลี่ยงสงครามการค้าระหว่าง จีนและสหรัฐฯ อาจชะงักหรือชะลอเพราะตอนนี้ไทยเองก็โดนภาษีในระดับสูงเช่นกัน (แม้ว่าเวียดนามจะโดนมากกว่า)
- แน่นอนว่า ยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง เช่นว่ากำแพงภาษีทั้งหมดนี้เจรจาได้แค่ไหน แต่ความไม่แน่นอนนี่เองก็จะทำให้ธุรกิจต่างๆทั่วโลกต้องหยุดเพื่อรอดู ปรับแผน มีผลลบกับเศรษฐกิจการลงทุนทันที
ตอนนี้ยังฝุ่นตลบแต่สำหรับผมเชื่อว่านี่คือ ’แผ่นดินไหว‘ ทางการค้าโลกที่มีผลกระทบต่อไทยอย่างมาก (และมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เคยคิดกัน) แน่นอน
ส่วนตัวจึงมองว่าจำเป็นต้องมี War Room ทีมพิเศษที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนจากหลากหลายอุตสาหกรรม-กระทรวงคุมโดยผู้นำที่สามารถสั่งงานข้ามหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมรับมือเรื่องนี้ (เพราะการแลกเปลี่ยนอาจไม่ได้มาแต่ในเรื่องสินค้า แต่รวมบริการ ดิจิทัล และเรื่องการต่างประเทศอื่นๆด้วย) และให้เป็นเรื่องเร่งด่วนพิเศษ ที่สำคัญไม่ใช่เจรจากับอเมริกาได้แล้วจะจบ เพราะผลกระทบทางอ้อมจากอาฟเตอร์ช็อกก็มาจากหลายทาง
ธุรกิจต่างๆ เองก็คงต้องเตรียมรับมือแรงกระแทกและปรับกลยุทธ์หาโอกาสในวิกฤตเช่นกัน เพราะช็อกครั้งนี้อาจไม่ใช่กระแทกระยะสั้นแต่จะมีผลปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจการค้าโลกระยะยาวด้วย