การประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (27 เม.ย.) ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
โดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ สร้างการท่องเที่ยวแบบใหม่ ไม่ต้องรอการท่องเที่ยวตามฤดูกาลหรือ การท่องเที่ยวเดิมที่มีอยู่ หรือ Man made tourism โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยมีผู้ให้ความเห็นกว่า 80,000 ราย ซึ่ง 80% เห็นด้วย จากนั้นจะเสนอร่างดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป
นายกฯ กล่าวอีกว่า เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ไม่เท่ากับกาสิโน เพราะมีกาสิโนอยู่ไม่เกิน 10% ขณะที่ 90% จะเป็นเรื่องอื่นๆ เช่นคอนเสิร์ตฮอลล์ขนาดใหญ่ ความจุ 50,000 คน อินดอร์ สเตเดียมขนาดใหญ่ สวนน้ำ โรงแรม ร้านอาหาร ที่จะสร้างรายได้กว่า 119,000 ถึง 238,000 ล้านบาท คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น 5-10% ต่อปี ในส่วนนี้รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 12,000-39,000 ล้านบาทต่อปี และมีการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น เกิดอาชีพใหม่ และทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษี โดยมาจากธุรกิจอื่นๆ ประมาณ 8,000 ถึง 35,000 ล้านบาทต่อปี และภาษีเฉพาะกาสิโนขั้นต่ำ 3,264 ล้านบาทต่อปี ตรงนี้เป็นโอกาสของประเทศที่แท้จริง อย่าไปโฟกัสแค่เรื่องเดียวแต่ทั้งหมดจะสร้างโอกาสให้ประเทศ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้รัฐบาลจะเร่งเสนอร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ไปยังสภาผู้แทนราษฎร เป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อบรรจุวาระ และพิจารณาในวาระที่ 1 ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการต่อไป
ทั้งนี้ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ. ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งแก้ไขเนื้อหาหลายส่วน ทั้งการกำกับ ควบคุม และการกำหนดโทษ โดยกฎหมายฉบับนี้ ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ เพราะจะมีเงินลงทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านบาทต่อจุด รวมไปถึงเงินได้จากภาษี ค่าธรรมเนียม เงินที่ประชาชนจะได้รับจากการจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ทั้งโรงแรม การท่องเที่ยวด้วย
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่ามหาศาลจากการมีสถานบันเทิงครบวงจร ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่เรื่องการทำกาสิโน แต่จะเป็นการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร ที่เป็น Man-made Tourist Destination เป็นโมเดลทางธุรกิจขนาดใหญ่ เหมือนดูไบ ญี่ปุ่น ซึ่งเรามองภาพประเทศไทยในอนาคตว่า จะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นระดับโลกมากขึ้น ทั้งร้านอาหาร สวนสนุกขนาดใหญ่ สนามกีฬาอินดอร์ขนาดใหญ่ โดยการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะดึงเอกชนมาร่วมลงทุน สร้างรายได้ใหม่ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย” นายจุลพันธ์ ระบุ
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า หน้าที่ต่อไปจะเป็นของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยต้องดูว่าจะมีการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างไร เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต เบื้องต้นไทม์ไลน์ของการเสนอกฎหมายนั้น ขณะนี้เหลือเวลาอีก 2 สัปดาห์ คือวันที่ 2-3 เม.ย. และ 9-10 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมสภาฯ รัฐบาลจึงได้เสนอรัฐสภาให้บรรจุเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะเร่งผลักดันกฎหมายออกมาให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ได้คุยกับนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะวิป ครม. จะไปเจรจากับทางสภาฯว่า จะมีทางเลื่อนระเบียบวาระให้เร็วขึ้น เพื่อจะเข้าได้ทันสมัยประชุมนี้ จากนั้นจึงตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณารายละเอียดในชั้นนี้ ก่อนจะเข้าวาระ 2-3 ต่อไป
โดยในรายละเอียดของร่างกฎหมายนั้น จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบล่าสุด ได้มีการนำเสนอความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายเข้ามาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดให้บุคคลสัญชาติไทยซึ่งจะเล่นพนันในกาสิโน ต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำ ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาเคยระบุว่าขัดกับวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย หากไปกำหนดให้มีเงินในบัญชีเกิน 50 ล้านบาท จะมีคนไทยที่มีบัญชีเงินฝากเกิน 50 ล้านบาท แค่เพียง 1 หมื่นบัญชีเท่านั้น และที่เหลืออาจมีความเสี่ยงเล่นการพนันที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้คงไปคุยกันในขั้นกรรมาธิการ
ส่วนการคัดเลือกเอกชนเข้ามาลงทุนนั้น หากกฎหมายผ่านสภาฯ จะมีการตั้งสำนักงานขึ้นมา โดยมีองค์ประกอบคณะกรรมการทั้งฝ่ายนโยบาย และฝ่ายบริหาร จากนั้นจะเริ่มต้นขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่ที่จะตั้งสถานบันเทิงครบวงจรว่ามีกี่จุด และพื้นที่ใดที่มีศักยภาพ
ดังนั้นเมื่อศึกษาเสร็จสิ้น จึงเปิดประมูลเพื่อจัดหาเอกชนเข้ามาลงทุน โดยคณะกรรมการจะดูเรื่องของความเหมาะสมด้านต่าง ๆ ของการลงทุน รวมทั้งตรวจสอบประวัติของเอกชนว่าเป็นอย่างไร แล้วจึงออกใบอนุญาตต่อไป
สำหรับการประเมินผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการผลักดันสถานบันเทิงครบวงจรนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้ประเมินตัวเลขเงินลงทุนเทียบเคียงกับสิงคโปร์ เมื่อ 20 ปีก่อน มีเงินลงทุนใน 1 พื้นที่ มีเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือว่า 2 แสนล้านบาท โดยในปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้อนุมัติให้ต่ออายุสัญญา และกำหนดให้ลงทุนเพิ่มอีก 8,000 ล้านดอลลาร์ หรือว่า 2.8 แสนล้านบาท
ดังนั้นในส่วนของประเทศไทยนั้น เชื่อมั่นว่า เงินลงทุน 1 แสนล้านบาทในประเทศไทยจึงเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงเงินจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อีก ทั้งการจ้างงาน ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และการท่องเที่ยว
เบื้องต้นในด้านการท่องเที่ยว เมื่อคำนวณตัวเลขจากโมเดลทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า การมีสถานบันเทิงครบวงจรจะเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีก 40% หรือจากเดิมที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 40,000 บาทต่อคนต่อทริป เพิ่มเป็น 60,000 บาทต่อคนต่อทริปด้วย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงโมเดลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์