svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

การบินไทยโชว์กำไรทะลุ 4.15 หมื่นล้าน ออกจากแผนฟื้นฟูฯ เม.ย.นี้

27 กุมภาพันธ์ 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

การบินไทยโชว์กำไรปี 67 ทะลุ 4.15 หมื่นล้าน เตรียมยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เม.ย.นี้

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู 4 เงื่อนไข ประกอบด้วย 1.จดทะเบียนเพิ่มทุนเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุน 2.ไม่ผิดนัดชำระหนี้ 3.EBITDA ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง และมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก และ 4.การแต่งตั้งกรรมการใหม่ ซึ่งเสนอรายชื่อให้ผู้ถือหุ้นรับรองในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 18 เม.ย.นี้

ขณะที่กรอบการดำเนินงานเพื่อยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการนั้น คาดว่าภายในเดือนเม.ย.นี้ จะยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากนั้นคาดว่าเดือน พ.ค.นี้ ศาลล้มละลายกลางอนุมัติยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ขณะเดียวกันช่วงต้น-กลาง มิ.ย.นี้ จะดำเนินการให้มีคุณสมบัติครบตามการยื่นขอกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และภายในเดือน มิ.ย.2568 หุ้นจะกลับไปซื้อขาย

อย่างไรก็ดี เพื่อทำให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจและได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินปันผล ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนวันที่ 25 ก.พ.2568 อนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้นของบริษัทฯ จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชีให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด โดยจะทำให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วลดลงจาก 283,033 ล้านบาท เป็นจำนวน 36,794 ล้านบาท และทำให้ผลขาดทุนสะสมลดเหลือ 180 ล้านบาท 

การบินไทยโชว์กำไรทะลุ 4.15 หมื่นล้าน ออกจากแผนฟื้นฟูฯ เม.ย.นี้

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือบริษัทฯ แต่อย่างใด และไม่กระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมในงบการเงินของบริษัทฯ อีกทั้ง ไม่กระทบมูลค่าบริษัทหรือมูลค่าต่อหุ้นเพราะมูลค่าต่อหุ้นไม่ถูกกำหนดจาก Par Value และเปิดโอกาสให้บริษัทฯ พิจารณาจ่ายเงินปันผลในอนาคตให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน 

และเป็นการเพิ่มความน่าสนใจของหุ้นให้แก่นักลงทุนภายหลังการกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหากในอนาคต บริษัทฯ ต้องการที่จะระดมทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการหรือชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดเรื่องผลขาดทุนสะสมซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีอีกต่อไป

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทฯ มีแผนเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง โดยจะรับมอบเครื่องบินเพิ่มเติมจำนวน 9 ลำ จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวน 79 ลำ โดยจะรับมอบแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ประกอบด้วย แอร์บัส A330 จำนวน 7 ลำ แอร์บัส A321 จำนวน 1 ลำ และแอร์บัส A330-300 จำนวน 1 ลำ

การบินไทยโชว์กำไรทะลุ 4.15 หมื่นล้าน ออกจากแผนฟื้นฟูฯ เม.ย.นี้

 โดยเมื่อมีการรับมอบเครื่องบินเหล่านี้บริษัทฯ จะนำไปเพิ่มความถี่จุดบินที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเยอรมัน เพื่อทำให้ภาพรวมผู้โดยสารปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านคน จากปี 2567 ที่มีจำนวน 16 ล้านคน 

นายชาย กล่าวด้วยว่า หลังจากออกจากแผนฟื้นฟูแล้วการบินไทยมั่นใจว่าจะดำเนินธุรกิจเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง เพราะการแข่งขันรุนแรงและอุตสาหกรรมการบินเผชิญปัญหาเครื่องบินที่มีจำกัดไม่สามารถเพิ่มบริการได้ โดยผลจากการหารายได้ต่อเนื่องนั้น การบินไทยมั่นใจใช้หนี้ที่สะสมคงเหลือ 8.7 หมื่นล้านบาทตามกำหนด และจ่ายหนี้ค่าเช่าเครื่องบินที่จะเกิดขึ้น9 หมื่นล้านบาทตามกำหนด และหมดในปี 2579

การบินไทยโชว์กำไรทะลุ 4.15 หมื่นล้าน ออกจากแผนฟื้นฟูฯ เม.ย.นี้

นอกจากนี้ การบินไทยชี้แจงผลการดำเนินงานปี 2567 มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 187,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีรายได้รวม 161,067 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 16.7% ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) อยู่ที่ 41,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีกำไร 40,211 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 3.2%

การบินไทยโชว์กำไรทะลุ 4.15 หมื่นล้าน ออกจากแผนฟื้นฟูฯ เม.ย.นี้ การบินไทยโชว์กำไรทะลุ 4.15 หมื่นล้าน ออกจากแผนฟื้นฟูฯ เม.ย.นี้

อย่างไรก็ตามหลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งมีผลทางบัญชี ทำให้การบินไทยมีผลขาดทุน 26,901 ล้านบาท แต่ยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวไม่เป็นการสะท้อนการดำเนินงานแท้จริง เพราะเป็นรายการทางบัญชีที่เกิดขึ้นครั้งเดียว

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้หารือร่วมกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินโครงการและกำหนดเงื่อนไขคัดเลือกผู้ลงทุน

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งบลงทุน 1 หมื่นล้านบาท โดยการบินไทยจะเป็นผู้ลงทุนหลัก เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ ขณะที่สัดส่วนการลงทุนจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอให้มีการลงนามสัญญาร่วมกับบางกอกแอร์เวย์สแล้วเสร็จจึงจะเปิดเผยได้

logoline
News Hub