นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในปี 67 จะขยายตัวได้ 4-4.5 % อย่างแน่นอน โดยหากเดือน ธ.ค.ส่งออกได้มูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งปีจะขยายตัว 4% แต่หากส่งออกได้มูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์จะขยายตัวได้ 5% ถือว่าการส่งออกปี 67 จบแล้วเกินเป้าหมายที่วางไว้ 1-2% แม้ว่าตัวเลขในช่วงสุดท้ายจะไม่ออกมา สินค้าที่เป็นเรือธงหรือเครื่องยนต์ช่วงโค้งสุดท้ายทำให้ตัวเลขส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ 4-4.5% คือ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนการส่งออกปี 68 สรท.คาดการณ์ไว้กรอบกว้างๆ คือ 1-3 % เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเฉพาะความรุนแรงจากสงครามการค้า หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ วันที่ 20 ม.ค. ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ กระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย แต่หากต้องการให้ส่งออกปี 68 ขยายตัวได้ 2-3% ต้องทำงานร่วมกันหนักขึ้น เป็นความท้าทายสูง สินค้าที่เป็นเรือธงส่งออกไทยยังเป็นสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหารที่ยังมีแรงส่งได้ดีในปี 68
ทั้งนี้หากดูตัวเลขดัชนีภาคการผลิตหรือ PMI ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ต่ำกว่าระดับ 50 ทั้งในสหรัฐยุโรป ขณะที่ค่าระวางเรือหากไม่มีปัญหาสามารถบริหารจัดการได้ และมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นความเสี่ยงอยู่ที่สงครามการค้า ซึ่งไตรมาส 1 สรท.คาดว่า การส่งออกของไทยขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1-2% มูลค่า 72,000 ล้านดอลลาร์ โดยช่วงนี้ผู้ส่งออกเร่งส่งออกสินค้าไปยังผู้สั่งซื้อ เนื่องจากปลายเดือนม.ค.เป็นเทศกาลตรุษจีน ต่อเนื่องไปถึงปลายเดือนก.พ.ที่จะสู่เดือนศีลอดหรือเทศกาลรอมฎอนของชาวมุสลิม ทำให้ต้องส่งออกสินค้ามากขึ้น จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 จะเห็นผลกระทบจากนโยบายการค้าของนายทรัมป์อย่างชัดเจนมากขึ้น
ส่งออกปี 67 สอบผ่าน แต่ปี 68 โจทย์ยากกว่ายังมองไม่เห็นปัจจัยบวก มีแต่ปัจจัยเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย โดยเฉพาะสงครามการค้า ทรัมป์ 2.0 ที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและส่งออกไทย ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไรหรือจะขยายสมรภูมิเพิ่มอีก นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินบาทที่มีความผันผวนรวดเร็ว 3 เดือนแข็ง อีก 3 เดือนอ่อนค่า และต้นทุนผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งจากการปรับค่าแรงและค่าไฟฟ้า ต้องวิเคราะห์และหาแนวทางรับมือ รวมทั้งต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน
ทั้งนี้ ทางสรท.มีข้อเสนอ คือ 1.ขอให้ผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) รายไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนการค้าระหว่างประเทศ และแก้ปัญหาอุปสรรค 2.เมื่อผลงานออกมาดี ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการเรื่องการส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มเติมงบประมาณด้านกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในประเทศคู่ค้าหลักและตลาดเกิดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า รองรับการบิดเบือนตลาดจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ทั้งต้องเร่งหาตลาดใหม่ พร้อมกับการรักษาตลาดเดิมไว้ เพราะปัญหามีความซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้น มีอุปสรรคจากการออกกฎระเบียบใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องของภาษี เช่น มาตรการ CBAM มาตรการ EUDR และอาจมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีออกมาเพิ่มเติมอีก
ส่วนกรณีที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS มองว่า ทำให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ขยายโอกาสทางการค้าและส่งออกของไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศบราซิล รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ แอฟริกาใต้ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ ขณะที่จีนและอินเดียเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ จะทำให้ต้นทุนปัจจัยการผลิตถูกทั้งพลังงาน ก๊าซและปุ๋ย ลดการใช้เงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ไทยอาจถูกกีดกันมาตรการการค้าจากชาติตะวันตก
สำหรับการส่งออกของไทยเดือนพ.ย. 2567 มีมูลค่า 25,608.2 ดอลลาร์ ขยายตัว 8.2% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย ขยายตัว 7.0% การนำเข้ามีมูลค่า 25,832.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.9 % ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในเดือนพ.ย.ขาดดุลเท่ากับ 224.4 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาพรวม 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย. 2567 ) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 275,763.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.1% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกไทยขยายตัว 4.9% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 282,033.3 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 5.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 10,032,550 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลเท่ากับ 6,269.8 ล้านดอลลาร์
สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโต 5% และประมาณการณ์ปี 2568 เติบโต 1-3% (ณ มกราคม 2568) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่
1. Trade War (Trump 2.0)
1.1) ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าซึ่งอาจส่งผลทั้งด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทย
1.2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดึงนักลงทุนกลับประเทศและมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจส่งผลให้เศรษฐกิจอเมริกามีความร้อนแรง มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ทำให้ FED ปรับประมาณการณ์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 4 ครั้งเหลือ 2 ครั้งในปีหน้า
1.3) แนวทางการลด/ยกเลิกความเข้มงวดของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ
2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องของการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้ ประกอบกับสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้
3. ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน จากปัจจัยภายในรวมถึงเงินเฟ้อและนโยบายการค้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ
4. ต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น
4.1) การปรับขึ้นค่าแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่ง
4.2) ทิศทางราคาน้ำมันและต้นทุนพลังงานในตลาดโลกมีความผันผวน จากความเสี่ยงหลายประการ
5. สถานการณ์การขนส่งทางทะเล สถานการณ์ค่าระวางมีการปรับตัวสูงขึ้น จากการเร่งส่งออกตลาดไปยังสหรัฐฯ และปัญหาทะเลแดงที่ยังมีอิทธิพลต่อการส่งออกไปสหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง