นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเชิญจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในวาระพิเศษ ในโอกาสที่สถาบันเอเชียศึกษาก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 ในปี 2568 นี้ โดยสถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ดำเนินโครงการ Asia Forwards Series จัดบรรยายพิเศษว่าด้วยกระบวนทัศน์ต่อเอเชียในอนาคต เป็นซีรีส์ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2568 โดยงานในวันนี้ จัดเป็นครั้งแรก ในหัวข้อ “Thailand-Australia: Opportunities and Challenges in a Volatile World” โดยมีผู้บริหารสถาบันการศึกษา ตัวแทนองค์การระหว่างประเทศ สถานอัครราชทูต ภาคเอกชน นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วม เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568
นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างด้านเศรษฐกิจการค้า ต้อนรับการลงทุนจากทุกประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อาหารและการเกษตรขั้นสูง ไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร สนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารของโลก (Food Security) ในภาวะที่ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับความไม่สงบและความผันผวน รวมถึงการให้ไทยเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ PCB Data Center และ AI
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังตั้งเป้าที่จะปิดจบการเจรจา FTA อีกหลายฉบับ มองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ และในวันที่ 23 มกราคม 2568 ไทยจะลงนาม FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ที่เมืองดาวอส ซึ่งจะเป็น FTA ฉบับแรกของไทยกับกลุ่มประเทศยุโรป
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยโตต่ำมาร่วมทศวรรษ วันนี้ต้องโตอย่างน้อย 5% ต่อปี เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง FTA จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดี การส่งออก 11 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ขยายตัวถึง 5% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการลงทุน 9 เดือนแรกของปี 2567 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นมูลค่าสูงถึง 720,000 ล้านบาท ขยายตัว 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 10 ปี
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้กำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน เน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนกระทรวงพาณิชย์จึงได้ใช้หลักการทำงาน 80:20 โดย 80% ทำหน้าที่สนับสนุน (Supporter) สร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการและเกษตรกร และ 20% ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการทำธุรกิจการค้า ซึ่งตนพร้อมช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ถ้ามีปัญหาให้มาพบกับ รมว.พาณิชย์ ได้เสมอ
สำหรับความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลีย ถือเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของไทย ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) เป็น FTA ทวิภาคีฉบับแรกของไทย และจะครบรอบ 20 ปี ในปีนี้ (TAFTA มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2548) ตั้งแต่ TAFTA มีผลบังคับใช้ ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าหรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี นอกจากนี้ ไทยกับออสเตรเลียกำลังเดินหน้ายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (SECA) มีโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะทำร่วมกัน เช่น ด้านเกษตร ระบบอาหารยั่งยืนการท่องเที่ยว การค้าและเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583”(Southeast Asia Economic Strategy to 2040) ของออสเตรเลียยังสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนของไทยในหลายด้าน เช่น เกษตรและอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ การศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับทั้งสองประเทศด้วย
นายพิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชากรในภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของประชากรโลก ซึ่งประกอบด้วยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน และอินเดีย และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลางที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต การจัดงาน Asia Forwards Series ในวันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากแวดวงวิชาการ นโยบาย และอุตสาหกรรม จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพลวัตทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของเอเชีย ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวทางใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาคนี้ต่อไป