นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่าที่ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ ดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดที่ กนง.มีมติเอกฉันท์คงไว้ที่ 2.25% ซึ่งเคารพการตัดสินใจของ กนง.ทั้ง 7 คน แต่ควรอธิบายให้มากขึ้น โดยดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% จะลดหรือไม่ลด เป็นเพียงส่วนเดียวของกลไกนโยบายการเงิน แต่ปัจจุบันหากดูอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบถือว่าสูงเกินไป โดยเฉพาะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่ควรทำให้แคบลงหรือไม่
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบันอยู่ระดับสูง โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 24% ต่อปี บัตรเครดิตอยู่ที่ 16% แต่การผิดนัดชำระหนี้อยู่ระดับสูง ดังนั้น ธนาคารมีกำไรดีขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง อีกทั้งทำให้ความเสี่ยงหนี้เสีย และการตั้งสำรองหนี้สูญยังมีทิศทางปรับลดลงด้วย ที่เคยตั้งสำรองไว้สูงๆในอดีต ก็สามารถดึงกลับมาเป็นรายได้ ดังนั้นส่วนนี้ควรมีการหยิบยกส่วนนี้มาหารือกันหรือไม่ เพื่อให้หนี้ไม่กลายเป็นหนี้เสีย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมองว่า ในอดีตเคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 5 ธ.ค.2566 โดยมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยให้เร็ว และมาก คือหนทางป้องกันหายนะ ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อคัดเลือกเป็น “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” จนถึงวันนี้ ความเชื่อนั่นยังเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันนั้นยังไม่เห็นอัตราดอกเบี้ยลดลงเร็ว เงินกู้แทบไม่ได้ลดลง การตัดสินใจคงดอกเบี้ยล่าสุด ผมก็เชื่อว่าท่านมีเหตุผลของท่านในการตัดสิน แต่ควรอธิบายให้ชัดเจนด้วยเหตุผล โดยอธิบายใน 1หน้าที่ออกมาสั้นเกินไป ควรอธิบายให้ละเอียด หากคนเชื่อท่านก็เป็นเรื่องที่ดี หากท่านถูกผมผิด ผมก็ดีใจด้วย ผมโพสต์ไปตั้งแต่ปีที่แล้วก็ยังไม่เห็นการลดดอกเบี้ย ที่โพสต์ไปก็ไร้น้ำยา อยากเห็นปีนี้ก็ยังไม่เห็นอีก ดังนั้นปีหน้าค่อยพูดกันอีกทีละกัน
สำหรับกรณีได้รับเสนอเป็นประธานกรรมการ ธปท.นั้น วันนี้ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยทราบว่าคณะกรรมการเสนอชื่อแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเพียงผู้ที่ยอมรับการเสนอชื่อ และยอมให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอชื่อเข้า ครม.เมื่อใดอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ถูกเสนอชื่อ คนอย่างกิตติรัตน์ หากได้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มองว่าจะทำให้แบงก์ชาติมีความเชื่อมั่นเชื่อถือน้อยลงไปหรือไม่ หากท่านคิดว่าผมทำหน้าที่นี้ได้ดีก็ต้องทำสิ่งที่ดี
ทั้งนี้สอดคล้องความคาดหวังอันเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งผู้บริหาร ธปท.ปัจจุบัน อดีตผู้ว่า ธปท. ผู้เกี่ยวข้องทั้งทางลบและทางบวก ดังนั้นหากไปอยู่จุดนั้นต้องทำให้ดี ต้องมีธรรมาภิบาล มุ่งมั่น ใส่ใจ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง โปร่งใส คนกังวลหากผมรับตำแหน่งจะไปแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงิน ผมแซงแทรกได้มากกว่านั้น ผมแทรกแซงนโยบายการคลังได้ด้วย แต่แทรกแซงทางความคิด
สำหรับทั้ง 2 ส่วนนี้ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่มีหน้าที่หรืออำนาจสั่งการใดๆ โดยเฉพาะไปสั่งคณะกรรมการทั้ง 3 คณะภายใต้ ธปท.แต่หากได้เป็นประธานกรรมการ ธปท.จะเป็นคนเชื่อมทั้ง 2 นโยบาย ผมไม่ได้อวดอ้างว่าเก่งกาจอะไร แต่ผมเองมองบรรยากาศทำงานร่วมไม้ร่วมมือกันดีกว่า ดังนั้นฟังกันสักนิดจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ดี
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน มองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ไม่เฉพาะ 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่หากเทียบประเทศคู่ค้าคู่แข่งรอบ 2 ทศวรรษ ไม่มีประเทศใดยอมให้เงินบาทแข็งค่ามากนัก แม้เงินบาทแข็งค่าจะมีข้อดีทำให้สินค้านำเข้าถูกลง แต่จะทำให้จีดีพีโตช้า ประชาชนไม่มีเงินซื้อ ดังนั้นหากทำให้ของแพงขึ้น แต่หากเจริญเติบโตเศรษฐกิจดีขึ้นจะดีกับประชาชนมากขึ้น ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่มองว่าหลายประเทศค่าเงินอ่อนค่า ไม่ได้ต้องการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน แต่มองว่ามีกลไกทำให้ค่าเงินไม่แข็งค่าเกินไป เพราะมองว่าการบริหารเศรษฐกิจเหมือนนักกอล์ฟ หากไม่เก่งมากต้องขอแต้มต่อ ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนอย่าแข็งค่านัก
รวมทั้งสิ่งที่ต้องระวังระยะข้างหน้าที่มองเป็นความเสี่ยงมากที่สุด คือ ความเป็นเดิมๆ ทำอะไรแบบเดิมๆ โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมามาก แต่หากเงินบาทแข็งค่า ขณะที่คู่แข่งการท่องเที่ยวเงินอ่อนค่า ดังนั้นส่วนนี้ต้องระวัง ทั้งในระยะ1-2ปีข้างหน้า หรือระยะยาว วันนี้การออกจาก Lost Decade มีหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ อย่าทำแบบเดิม เพราะหากทำแบบเดิมเราก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ ดังนั้นต้องทำใหม่ โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จใหม่ๆก็มีโอกาส
สำหรับการปฏิรูปทางภาษี มองว่า ส่วนหนึ่งคือแหล่งรายได้ของภาครัฐ แต่อีกด้านก็เป็นภาระสำหรับผู้จ่ายภาษี ดังนั้นเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนเสมอๆ และเมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ ก็ค่อยประกาศ เพราะไม่เช่นกัน อาจนำมาสู่การเก็งกำไรล่วงหน้าได้ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องต้องคิดให้ดี ละเอียดลออ ว่าควรไม่ควร ดูให้รอบคอบ ทั้งนี้แนวคิดที่จะปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปที่ 15% มองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไทยมีภาษี VAT เพียง 10% แต่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้มยำกุ้งมาที่ 7% ดังนั้นการปรับภาษี อย่างมากก็จะไปได้เพียงถึงระดับ 10% ดังนั้นส่วนตัว หากเป็นตน การปรับภาษีควรปรับทีละน้อย เช่นจาก 0.25% หรือ 0.50% หรือ 1% พร้อมไปกับการสื่อสารกับประชาชนให้ได้ว่าเงินที่ได้มา จะนำไปใช้ทำอะไร
เช่นเดียวกันภาพเศรษฐกิจไทย ในฐานะที่เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในอดีต ส่วนตัวค่อนข้างห่วงเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเต็มทศวรรษ ดังนั้นข้อเสนอแนะ คือ หากต้องการผลลัพธ์ใหม่ต้องคิดใหม่ ทําใหม่ ใช้คําว่า “คิดใหม่ ทําใหม่” ไม่ได้หมายความว่าคาดหวังกับนโยบายการคลัง นโยบายการเงินเท่านั้น แต่จําเป็นต้องทําเรื่องต่างๆให้ดีขึ้นกว่าเดิมแทบจะทุกแง่มุมในเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ
ทั้งนี้มองว่า การที่จะให้เศรษฐกิจ หรือจีดีพีปรับตัวดีขึ้น ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ทำงานสอดประสานกันมากขึ้น เพื่อหาแนวทางให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น ทุกฝ่ายต้องระดมสมองช่วยกัน โดยเฉพาะสมาคมตลาดทุน หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมแบงก์รัฐ ต้องมีการหารือร่มกัน เพื่อช่วยขจัดความด้อยประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสมีจีดีพีสูงขึ้น