svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คลังเล็งรื้อภาษี หั่นนิติบุคคลหนุนลงทุน เพิ่ม VAT ลดเหลื่อมล้ำ

คลังเร่งศึกษาปรับโครงสร้างภาษี ลดภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีบริโภค VAT 15% สอดคล้อง Global Minimum Tax พร้อมศึกษาภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15% หนุนดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในไทย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” นำเสนอถึงทิศทางนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น นโยบายการคลัง นโยบาย หัวข้อ “Financial Policies for Sustainable Economy” ระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ภาวะที่เติบโตช้าเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีการลงทุนใหม่น้อย แต่ขณะนี้ก็เป็นจังหวะเวลาที่การลงทุนไหลเข้ามาในไทยมากที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งโลกร้อนและความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการโยกย้ายแหล่งผลิตและซัพพลายเชนโลก ซึ่งหลายแห่งเลือกเข้ามาลงทุนในไทย

นายพิชัย กล่าวว่า การลงทุนที่จะเข้ามามากที่สุดจะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซนเตอร์ ซึ่งการลงทุนใหม่ทั้งหมดนี้จะเข้ามาส่งเสริมภาคการผลิตและเป็นขีดความสามารถใหม่ของประเทศ

คลังเล็งรื้อภาษี หั่นนิติบุคคลหนุนลงทุน เพิ่ม VAT ลดเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มียอดการขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ที่ 7 แสนล้านบาท และคาดว่าถึง 1 ล้านล้านบาทในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

ดังนั้น รัฐบาลจะสนับสนุนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การปรับนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุน (Ease of Doing Business) รวมทั้งการกำหนดนโยบายการเงินที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องช่วยผลักดันการเติบโตของภาคธุรกิจ

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินที่จะมาสนับสนุนการลงทุนประกอบไปด้วย 

1.การมีต้นทุนการเงินต่ำ หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งประเทศไทยยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำอีกมาก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 0.6-0.7% เท่านั้น ไม่ถึง 1% ตามกรอบเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2568 ให้อยู่ที่ 2%

2.กำหนดทิศทางค่าเงินบาทอ่อน เพื่อสนับสนุนภาคการส่งออกที่คิดเป็น 65-70% ของ GDP ประเทศ โดยค่าเงินบาทแข็งที่มาจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มาก จะต้องมีวิธีการจัดการย้ายไปพอร์ตที่สอง เบื้องต้นได้ศึกษาการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเช่นเดียวกับที่หลายประเทศมีการตั้งกองทุนดังกล่าว

คลังเล็งรื้อภาษี หั่นนิติบุคคลหนุนลงทุน เพิ่ม VAT ลดเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้การกำหนดทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนต้องมีมาตรการระยะยาวที่ชัดเจนในการทำให้มีเสถียรภาพและไปทางบาทอ่อน

“นโยบายการเงินดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลอยากเห็น ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารนโยบายการเงินเป็นไปอย่างรอบคอบ ธปท.จะต้องมีความคิดอย่างอิสระ วิเคราะห์ปัญหา และนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายเพื่อช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นายพิชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะมีแนวทางการจัดเก็บรายได้เพื่อสนับสนุนภาคเอกชน ประกอบไปด้วย

1.การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่อัตรา 15% ตามหลักการ Pillar 2 ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งอัตราการจัดเก็บภาษีของไทยต้องลดลงจากปัจจุบันที่ 20% เพื่อให้สามารถแข่งขันกับชาวโลกได้

2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บในอัตราที่ลดลงมาเพื่อให้ดึงดูดบุคลากรและคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่จะจัดเก็บภาษีเงินได้อยู่ที่ 17-18% และต่ำที่สุดที่ 15%

3.ปรับเพิ่มภาษีบริโภค หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งฐานภาษีไทยอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากฐานภาษีใหญ่จากภาษีการบริโภค หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งคงไว้ที่อัตรา 7% เท่านั้น จากอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 10% ขณะที่เฉลี่ยแล้วทั่วโลกจัดเก็บที่อัตรา 15-25% โดยจีนจัดเก็บที่ 19% สิงคโปร์ 9% และหลายประเทศในยุโรปอยู่ที่ 20%

“ภาษีบริโภคเป็นภาษีที่คนทั่วไปมองว่าเซนซิทีฟ อย่างไรก็ตามหากจัดเก็บอัตราเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยและคนจนให้เล็กลงได้”

ทั้งนี้ เนื่องจากการบริโภคเป็นไปตามฐานะของบุคคล คนรวยมากก็บริโภคมาก ส่วนคนรายได้น้อยจะบริโภคน้อย ดังนั้นหากเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำหมายความว่าทุกคนจ่ายต่ำ ยอดการจัดเก็บรายได้รัฐก็จะมีน้อย

ขณะที่หากเก็บภาษีบริโภคในอัตราที่สูงขึ้นได้ เงินกองกลางหรือรายได้รัฐก็จะใหญ่ขึ้น ซึ่งจะสามารถนำรายได้ดังกล่าวจัดสรรงบประมาณและส่งผ่านให้คนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจในประเทศ ในการอุดหนุนด้านสาธารณูปโภคให้มีต้นทุนที่ต่ำลง

“การเก็บภาษีสูงหรือต่ำจะต้องพิจารณาให้ดีในแง่ของนโยบายการจัดเก็บภาษีของรัฐ ผมคิดเรื่องนี้ทุกคืน ซึ่งลำดับแรกจะต้องทำให้คนเข้าใจก่อน หากไม่เข้าใจแล้ว ผมจะอยู่รอดถึงวันไหนนะ” นายพิชัย กล่าว

 

คลังเล็งรื้อภาษี หั่นนิติบุคคลหนุนลงทุน เพิ่ม VAT ลดเหลื่อมล้ำ

นางสาวกลุยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “Government’s Mechanisms to Achieve SDGs“ ภายในงานSustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ว่า กรมสรรพสามิต เตรียมเสนอแนวทางจัดเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ วันที่ 11 ธ.ค.นี้ 

ทั้งนี้ กำหนดอัตราจัดเก็บอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน โดยยืนยันว่าไม่กระทบราคาขายปลีกน้ำมัน รวมทั้งภาษีคาร์บอนจะฝังอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยจะมีอัตราแตกต่างกันไปในน้ำมันแต่ละชนิด ตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

คลังเล็งรื้อภาษี หั่นนิติบุคคลหนุนลงทุน เพิ่ม VAT ลดเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้ การกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนในโครงสร้างภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในเบื้องต้นจะไม่ส่งผลต่อภาระภาษีของผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยผลการศึกษาของ World Economic Forum พบว่าประเทศที่มีกลไกบังคับใช้กฎหมายภาษีคาร์บอน จะลดปล่อยคาร์บอนลง 2% ขณะที่ประเทศที่ไม่มีกลไกภาคบังคับจะปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 3% และช่องว่างดังกล่าวจะกว้างขึ้น

นางสาวกุลยา กล่าวว่า กรมสรรพสามิตเข้าใจดีว่าราคาน้ำมันมีความอ่อนไหวซึ่งเป็นต้นทุนของหลายภาคส่วน โดยเบื้องต้นจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภคและกำหนดให้อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเท่าเดิม โดยในระยะต่อไปจะต้องมีการขยับและเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน