svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

10 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 1.6 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์

10 เดือน ปี 67 ต่างชาติลงทุนในไทย 161,169 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง 211 ราย ลงทุน 91,700 ล้านบาท ตามด้วย สิงคโปร์ 110 ราย ลงทุน 14,779 ล้านบาท และจีน 103 ราย ลงทุน 13,806 ล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า ช่วง 10 เดือนของปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 786 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 605 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 161,169 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,037 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 

10 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 1.6 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์
    
1. ญี่ปุ่น 211 ราย คิดเป็นร้อยละ 27 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 91,700 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ  ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชัน ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ)

10 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 1.6 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์

2. สิงคโปร์ 110 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,779 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ  บริการทางวิศวกรรมและเทคนิคในด้านต่างๆ เช่น การออกแบบทางวิศวกรรม และการวางระบบโครงสร้างการผลิต ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ การให้บริการ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์เชิงสนทนาพร้อมอวทาร์ (Conversation AI Avatar)  ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง (ADVANCED TECHNOLOGY) บรรจุภัณฑ์พลาสติก ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์)
    
3. จีน 103 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 13,806 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการ บริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น  ระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า แอปพลิเคชันค้นหาและใช้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ธุรกิจบริการสถานที่สำหรับเล่นเกมแก้ไขปริศนา (Escape Room) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป, ผลิตชิ้นส่วนของระบบกันสะเทือนสำหรับยานพาหนะ, Audio Cables)
 

10 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 1.6 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์

4. สหรัฐอเมริกา 103 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,552 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การติดตั้ง บำรุงรักษา แก้ไข และปรับแต่งเว็ปไซต์ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า อาทิ เครื่องเสียงและระบบเครื่องเสียง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เครื่องมือแพทย์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษากล้องส่องตรวจ ท่อส่องตรวจ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ อุปกรณ์เลือกช่วงความยาวคลื่น อุปกรณ์แบ่งความเข้มแสง, Electro Magnetic Product
    
5. ฮ่องกง 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,461 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยเป็นการให้บริการแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการขนาดใหญ่ (Recreational Attraction Area) ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชัน ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ชุดแบตเตอรี่ความจุสูง (High Density Battery))
    
ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะการออกแบบ การใช้งาน และการซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณ องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยชีวภาพในระดับฟาร์ม องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการงานบำรุงรักษาเครื่องจักรผ่านแอปพลิเคชัน องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการประกอบชิ้นส่วนสายพานลำเลียง เป็นต้น 
    
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2566) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก ปี 2566 จำนวน 230 ราย (เพิ่มขึ้น 41%) (เดือน ม.ค. - ต.ค. 67 อนุญาต 786 ราย / เดือน ม.ค. - ต.ค. 66 อนุญาต 556 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 66,203 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 70%) (เดือน ม.ค. - ต.ค. 67 ลงทุน 161,169 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - ต.ค. 66 ลงทุน 94,966 ล้านบาท) 

ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวลดลง 2,919 ราย (ลดลง 49%) (เดือน ม.ค. - ต.ค. 67 จ้างงาน 3,037 คน / เดือน ม.ค. - ต.ค. 66 จ้างงาน 5,956 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน 

อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 10 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 141 ราย (เพิ่มขึ้น 128%) (เดือน ม.ค. - ต.ค. 67 ลงทุน 251 ราย / เดือน ม.ค. - ต.ค. 66 ลงทุน 110 ราย) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 27,148 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 146%) (เดือน ม.ค. - ต.ค. 67 เงินลงทุน 45,739 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - ต.ค. 66 เงินลงทุน 18,591 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท *จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท *ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน 

10 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 1.6 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์ 10 เดือน ต่างชาติลงทุนไทย 1.6 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์

อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (SOFTWARE PLATFORM) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับจัดการการจำหน่ายหรือเผยแพร่ผลงานเพลง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป, ชิ้นส่วนโฟมสำหรับอุตสาหกรรม เป็นต้น)