svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

‘ท่องเที่ยว-ส่งออก’ หนุนเศรษฐกิจฟื้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 ได้แรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก แนะจับตา การฟื้นตัวส่งออก-ภาคการผลิต-ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ หลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์และโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูภาพเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า มองว่า เศรษฐกิจน่าจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปีนี้ แรงส่งสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว และภาคการบริโภค ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อภาพเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 2567 ว่าการส่งออก การผลิต จะฟื้นตัวมากน้อยเพียงใด รวมถึงยังต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่อาจมีผลต่อปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในระยะข้างหน้าว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

สำหรับนโยบายการแจกเงิน 10,000 บาทที่เริ่มแจกไปแล้วกลุ่มแรก สำหรับกลุ่มเปราะบาง ส่วนนี้เริ่มเห็นผลบวกทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง ที่ผ่านเข้ามาในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภค ของใช้ในบ้านต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มากนักเนื่องจากผลจริงๆ ต้องติดตามต่อเนื่องในช่วงเดือน ต.ค. ทั้งนี้ สำหรับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา จีดีพี หรือ การขยายตัวเศรษฐกิจ ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี และยังเป็นไปตามที่ธปท.ประเมินไว้ ใกล้เคียงที่ระดับ 3%

‘ท่องเที่ยว-ส่งออก’ หนุนเศรษฐกิจฟื้น

“เศรษฐกิจไทยที่ออกมาในไตรมาส 3 ถือว่าหลายตัวยังเป็นไปตามคาด ส่วนผลกระทบน้ำท่วม ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย ผลอาจจะไม่เยอะมาก แต่อาจมีเรื่องของความเสียหาย หรือการซ่อมสร้างที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มที่รับผลกระทบหนักจริงๆ ดังนั้น คาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนจากการแถลงรายเดือนภาคเหนือในวันที่ 4 พ.ย. นี้”

‘ท่องเที่ยว-ส่งออก’ หนุนเศรษฐกิจฟื้น

ส่วนภาพเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา โดยรวมชะลอตัวลง จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากหลายเครื่องชี้วัดปรับตัวลดลง ซึ่งผลมาจากการเร่งตัวของหลายเครื่องยนต์ที่เร่งไปแล้วช่วงเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยชั่วคราว โดยหากดูการบริโภคเอกชนในเดือนก.ย. ปรับลดลง 0.6% เทียบเดือนก่อนหน้าจากทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าคงทนตามยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งมาจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และการชะลอการตัดสินใจของผู้ซื้อเพื่อรอดูราคา ขณะที่การบริโภคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ลดลง 0.4% สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงจากความกังวลเรื่องของน้ำท่วม และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ การส่งออกเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ปรับลดลง 3.3% หลังจากการเร่งตัวไปก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มยานยนต์จากการส่งออกไปในตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ส่วนเกษตรและเกษตรแปรรูปที่เร่งก่อนหน้าจากอุปทานของคู่ค้า ส่วนสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประดับ อัญมณี ที่ปรับเพิ่มตามการจัดแสดงสินค้า หากดูการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 6.1% ซึ่งเป็นผลจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ย. ปรับลดลง -1.4% จากยอดการผลิตรถยนต์ที่ปรับลดลง อาหารและเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ และเคมีภัณฑ์ตามการผลิตยา ส่วนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปิโตรเลียม เป็นการเพิ่มขึ้นตามสินค้าคงคลัง ส่วนภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ -0.5% ตามการผลิตยานยนต์และเครื่องปรับอากาศที่ปรับลดลง
 

‘ท่องเที่ยว-ส่งออก’ หนุนเศรษฐกิจฟื้น

ส่วนนักท่องเที่ยวเดือนก.ย. ปรับลดลง 3.2% จากเดือนก่อนหน้า ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.9 ล้านคน มาเหลือ 2.8 ล้านคน โดยเป็นการปรับลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เร่งไปก่อนหน้า และคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ และ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ตามวันหยุดยาวที่หมดลง ขณะที่นักท่องเที่ยวสัญญาติที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ มาเลเซีย เกาหลี และ สปป.ลาว

หากดูจำนวนท่องเที่ยวสะสม จนถึงปัจจุบัน พบว่าโดยรวมอยู่ที่ 28.4 ล้านคน ขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้น 4.4% ส่วนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ปรับลดลง 6% มาจากการลดลงของนักท่องเที่ยว สอดคล้องกับรายรับจากนักท่องเที่ยวปรับลดลง 2% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับลดลง

‘ท่องเที่ยว-ส่งออก’ หนุนเศรษฐกิจฟื้น

โดยการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวอยู่ที่ 0.1% จากเดือนก่อนหน้า หลักๆ มาจากการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องมือสื่อสาร เครื่องจักร และอุปกรณ์ ด้านการลงทุนก่อสร้างปรับลดลงตามพื้นที่อยู่อาศัยที่ลดลง ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 3.3% มาจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับเพิ่มขึ้น

ด้านตลาดแรงงานการใช้จ่ายภาครัฐปรับเพิ่มขึ้น 6.7% โดยรายจ่ายประจำลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 401% ตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ และข้าราชการ ส่วนรายจ่ายรัฐวิสาหกิจหดตัว 27.8% ตามการเบิกจ่ายภาคการขนส่ง ขณะที่ด้านตลาดแรงงานทรงตัว โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในภาคการผลิตและบริการยังเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงาน ม.38 รายใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นประเด็นที่ ธปท. ยังต้องติดตามใกล้ชิด

‘ท่องเที่ยว-ส่งออก’ หนุนเศรษฐกิจฟื้น

สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. 2567 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.61% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 0.35% ซึ่งมาจาก 3 หมวดหลัก ได้แก่ พลังงานที่ติดลบน้อยลง และมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนจากมาตรการอุดหนุนของภาครัฐ อาหารสดปรับเพิ่มขึ้นจากราคาผัก จากปัญหาน้ำท่วม และฐานที่ต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.77% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 0.62% ตามการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ ส่วนเงินเฟ้อในไตรมาส 3 ลดลงมาอยู่ที่ 0.60% จาก 0.78% ตามราคาที่สูงไปก่อนหน้า

ด้านค่าเงินบาท ในเดือนก.ย. ถือว่าแข็งค่าขึ้น จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีการผ่อนคลาย ก่อนจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าคาด ประกอบกับเงินบาทถูกแรงกดดันจากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าเงินปรับแข็งค่าขึ้นนำภูมิภาค และหากดูดัชนีเมื่อเทียบคู่ค้าคู่แข่ง (NEER) ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า และมีแนวโน้มอ่อนค่าบ้าง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนของปัจจัยการเลือกตั้งของสหรัฐ

ขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกันยายนอยู่ที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์ ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ไตรมาสที่ 3 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่อยู่ 0.8 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากรายรับจากนักท่องเที่ยวปรับลดลง