svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ส่งออก ส.ค. พุ่ง 7% จับตาบาทแข็งค่าฉุดไตรมาส 4

พาณิชย์เผยส่งออกไทยเดือนสิงหาคม 2567 ขยายตัว 7% มูลค่า 939,521 ล้านบาท รวม 8 เดือน ขยายตัว 4.2% คงเป้าทั้งปีโต 1-2 % จับตาบาทแข็งกระทบส่งออกไตรมาส 4

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุ การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2567 มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (939,521 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 7.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวสูง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมก็เติบโตได้ดี มีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนในหลายประเทศ ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคบริการในตลาดสำคัญ ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กระตุ้นความต้องการสินค้าจากไทย 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากค่าระวางเรือที่ลดลง โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ทั้งนี้ การส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 4.2 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.3
 

ส่งออก ส.ค. พุ่ง 7% จับตาบาทแข็งค่าฉุดไตรมาส 4

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนสิงหาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,917.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.9 ดุลการค้า เกินดุล 264.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 203,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.0 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,351.0 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งออก ส.ค. พุ่ง 7% จับตาบาทแข็งค่าฉุดไตรมาส 4 ส่งออก ส.ค. พุ่ง 7% จับตาบาทแข็งค่าฉุดไตรมาส 4

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนสิงหาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 939,521 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 941,019 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 ดุลการค้า ขาดดุล 1,497 ล้านบาท ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 7,068,821 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 7,378,253 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 309,432 ล้านบาท
 

ส่งออก ส.ค. พุ่ง 7% จับตาบาทแข็งค่าฉุดไตรมาส 4

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.4 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.5 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.1 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 1.0 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 46.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ เบนิน และเซเนกัล) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 64.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 20.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ และลิเบีย) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 25.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อิตาลี มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 233.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา มาเลเซีย จีน และเวียดนาม)

ส่งออก ส.ค. พุ่ง 7% จับตาบาทแข็งค่าฉุดไตรมาส 4  
     
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 11.5 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 14.2 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เกาหลีใต้ เคนยา ญี่ปุ่น และแทนซาเนีย) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 0.7 กลับมาหดตัวหลังจากที่ขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เมียนมา และคูเวต แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์) และผักกระป๋องและผักแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.8 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวันแต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย มาเลเซีย สหราชอาณาจักร อิสราเอล และลาว) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.6


มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 0.4 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ เม็กซิโก และซาอุดีอาระเบีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 74.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสิงคโปร์) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 14.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินโดนีเซีย จีน สหราชอาณาจักร และอินเดีย) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 12.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 19.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 11.2 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน และบราซิล แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 33.2 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และบราซิล) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 34.3 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน สิงคโปร์ อินเดีย และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสาธารณรัฐเช็ก) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 4.0

ส่งออก ส.ค. พุ่ง 7% จับตาบาทแข็งค่าฉุดไตรมาส 4     
การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งในตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน (5) กลุ่ม CLMV และสหภาพยุโรป รวมถึงตลาดรอง อาทิ เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก หลังแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทยอยลดลง 

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 3.0 จีน ร้อยละ 6.7 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 26.4 อาเซียน (5) ร้อยละ 4.5 และ CLMV ร้อยละ 13.7 ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น ยังคงหดตัวร้อยละ 11.3 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 7.9 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 22.8 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 34.6 แอฟริกา ร้อยละ 20.3 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 19.1 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 9.3 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 2.6 

ขณะที่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 14.0 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 106.8 ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 11.7
    
ตลาดจีน ขยายตัวตัวร้อยละ 6.7 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.1
    
ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 11.3 (หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 7.5
    
ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 26.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 8.5
    
ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 4.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.6
    
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 13.7 (ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และทองแดงและของทำด้วยทองแดง เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.2
    
ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 22.8 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 10.6
    
ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 14.0 (หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5.9
    
ตลาดตะวันออกกลาง กลับมาขยายตัวร้อยละ 34.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เคมีภัณฑ์ ยางพารา และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.3
    
ตลาดแอฟริกา กลับมาขยายตัวร้อยละ 20.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 1.8
    
ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 19.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 11.4
    
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 9.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 8.4
    
ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 2.6 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 9.8

ส่งออก ส.ค. พุ่ง 7% จับตาบาทแข็งค่าฉุดไตรมาส 4

การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนสิงหาคม อาทิ (1) การอำนวยความสะดวกต่อผู้ส่งออกผลไม้ไปจีน เมื่อ 5 สิงหาคม 2567 สถานที่ควบคุมตรวจสอบจำเพาะผลไม้นำเข้าของท่าเรือกวนเหล่ย ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นเส้นทางการค้าใหม่ที่เชื่อมโยงการค้าจากเชียงรายสู่คุณหมิงโดยตรง เป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน และจะช่วยระบายผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกมากได้ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของทีมพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขยายความร่วมมือทางการค้ากับจีน แก้ปัญหาการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรจากไทย 

(2) การนำคณะผู้ประกอบการไทยสำรวจตลาดศักยภาพในทวีปแอฟริกา โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้นำคณะผู้ประกอบการไทยสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ ชิ้นส่วน อะไหล่และอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องมือแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เป็นต้น เดินทางไปเจรจาการค้า พร้อมสำรวจตลาดการค้าที่สำคัญ ณ สาธารณรัฐกานา สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐโมซัมบิก

(3) การหารือเพื่อเปิดตลาดคาซัคสถาน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้หารือกับ Dr.Mirgali Kunayev กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับโอกาสทางการค้าของไทยในสาธารณรัฐคาซัคสถาน และยังหารือความเป็นไปได้ในการเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในคาซัคสถาน เพื่อเป็นด่านหน้าในการสำรวจตลาด ขยายความร่วมมือกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยต่อไป

ส่งออก ส.ค. พุ่ง 7% จับตาบาทแข็งค่าฉุดไตรมาส 4

แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะเติบโตต่อเนื่อง โดยยังคงเป้าส่งออกทั้งปีอยู่ 1-2 %และมีโอกาสเกิน 2% ปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากสัญญาณการคลี่คลายของภาวะเงินเฟ้อระดับสูงในหลายประเทศ และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคในตลาดโลก ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า และสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในหลายประเทศ 

นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะถัดไป อาทิ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาอุทกภัยในประเทศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป