svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Business

นายกฯ สั่งเบรกขึ้นค่าไฟฟ้า หวั่นช็อตคะแนนนิยมรัฐบาล

“นายกฯ” เบรกหัวทิ่มขึ้นค่าไฟฟ้า งวดม.ค.-เม.ย. 67 หลังกกพ.เฮียริ่งเคาะ 4.68 บาทต่อหน่วย  ด้านปลัดพลังงานเตรียมถกสำนักงบประมาณของบกลางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง  ชี้หากลดราคาเหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย กฟผ.หลังแอ่นแบกต้นทุนเพิ่ม 1.4 หมื่นล้านบาท ดันหนี้แตะ 1.25 แสนล้านบาท

ปั่นป่วนกันเป็นทิวแถว หลังจาก "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี เล่นบทดุ รับไม่ได้กับการเคาะขึ้นราคาค่าไฟฟ้าของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 67 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย

ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมเตรียมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็ววันนี้เหตุราคาสูงเกินไปจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน

พลันที่นายกฯ สาดกระแสไฟฟ้าแรงสูงมา  “นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ”  โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานก็รีบออกมาชี้แจงว่า ตัวเลขค่าไฟฟ้าดังกล่าวกกพ.ยึดตัวแปรหลักตัวแปรเดียว คือการชำระหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ.เป็นหลัก และเพื่อให้เกิดความสบายใจราคาสุดท้ายที่ต้องประกาศใช้จริงนั้น

จะมีการหารือกับฝ่ายบริหารกระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับของ "นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานอีกครั้ง โดยกระทรวงฯ จะเร่งแก้ไขเชิงโครงสร้าง ก๊าซธรรมชาติ ต้นตอของปัญหาราคาไฟฟ้า และสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าสะอาดระยาว คาดว่าค่าไฟฟ้าจะใกล้ความเป็นจริงมากที่สุดที่ราคาประมาณ 4.20 บาทต่อหน่อย ซึ่งประชาชนผู้ใช้ไฟจะไม่ต้องรับภาระจนหน้ามืดอย่างแน่นอน  

นายกฯ สั่งเบรกขึ้นค่าไฟฟ้า หวั่นช็อตคะแนนนิยมรัฐบาล

ฝั่ง “นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ”  ปลัดกระทรวงพลังงาน ก็นั่งไม่ติดต้องออกมาชี้แจงว่า  ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในครั้งนี้ จะอยู่ในส่วนของค่า Ft ซึ่งเกิดจากการคำนวณต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมา ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักของค่าไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคามีความผันผวนอยู่ในระดับสูง เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และในช่วงนี้ เป็นช่วงฤดูหนาวของกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ราคาในตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้นตาม 

นอกจากนี้ที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติลดน้อยลง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่คาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตในภาวะปกติได้ในช่วงเดือนเม.ย. 67

ขณะเดียวกันได้เตรียมนัดหารือสำนักงบประมาณ เพื่อของบกลางมาช่วยเหลือประชาชนในการปรับลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานคาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือประมาณ 4.20บาทต่อหน่วยได้

ส่วนแนวทางที่มีความเป็นไปได้ที่จะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 4.20 บาทต่อหน่วยตามนโยบายของรัฐนั้นมีทางออก 4 แนวทางคือ 1. ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลง ซึ่งปตท.จะต้องแบกรับภาระแทนประชาชน

2. ภาครัฐต้องกำหนดให้ราคาขายก๊าซธรรมชาติเท่ากัน ทั้งฝั่งที่ขายก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้า และฝั่งที่ขายก๊าซฯ ให้ธุรกิจปิโตรเคมี เนื่องจากปัจจุบันราคาขายก๊าซฯ ให้ธุรกิจปิโตรเคมี มีราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้า  

3.ให้ กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชน 48 สตางค์ต่อหน่วยไปก่อน หมือนกับที่ผ่านมา กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าไว้ และให้ประชาชนมาทยอยจ่ายคืนในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในภายหลัง รวมทั้งให้ ปตท.ลดค่าก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าลง โดย ปตท.แบกรับภาระไปก่อน แล้วให้ประชาชนจ่ายคืนในภายหลังเช่นกัน

4. ให้นำเงินงบประมาณจากภาครัฐมาจ่ายชดเชยราคาค่าไฟฟ้าส่วนลด ที่ประมาณ 48 สตางค์ต่อหน่วยแทน ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐจะต้องหาเงินมาชดเชยค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและเป็นผู้แบกรับภาระแทน คาดว่าจะมีการเสนอแนวทางดังกล่าวให้คณะกรรมการกพช.พิจารณาอนุมัติก่อนเสนอครม.ต่อไป 

ทั้งนี้ถ้าค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย. 67 จัดเก็บกันที่ 4.20 บาทต่อหน่วย จะทำให้กฟผ.ต้องขายไฟฟ้าต่ำว่าราคาทุน และส่งผลให้ กฟผ.มีภาระค่าเอฟทีที่ต้องค้างรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13,950 ล้านบาท ทำให้ยอดสะสมของค่าเอฟทีค้างรับรวมเป็น 125,950 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 95,777 ล้านบาท และยิ่งกฟผ.แบบหนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องก็จะทำให้กฟผ.ต้องหันหน้าพึ่งเงินกู้

โดยภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตรงส่วนนี้คนใช้ไฟจะรู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วกฟผ.ก็ต้องกลับมาบวกเป็นต้นทุนค่าไฟในอนาคต ดังนั้นแม้ว่าการปรับลดค่าไฟ ลงงวด ม.ค.-เม.ย. 67 จะทำให้ภาครัฐได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนในการดูแลพลังงานไม่ให้ถีบตัวสูงจนเป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน  แต่จะช้าจะเร็วรัฐก็ต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอยู่ดี ขึ้นกับว่าช่วงเวลาไหนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและมีความเหมาะสมเท่านั้นเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคนที่ต้องก้มหน้ารับกรรมก็หนีไม่พ้นประชาชนเหมือนเคย....