svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Business

"เอกชน" หวั่นตั้งรัฐบาลยืดเยื้อทุบเศรษฐกิจ  

ภาคเอกชนเห็นพ้อง จัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จภายในส.ค.นี้ ดึงความเชื่อมั่น วอนเลิกเล่นการเมือง- แย่งเค้กชี้ลากยาวกระทบเศรษฐกิจ

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย  เปิดเผยว่า การประกาศเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 3  เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอบ 2 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนุญหรือไม่นั้นเห็นว่า

กลไกลของรัฐธรรมกำหนดแนวทางไว้แบบนี้ ภาครัฐจะแก้ไขกันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่ภาคเอกชนต้องการมากที่สุดคือ อยากได้นายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อเข้ามาบริหารประเทศภายในส.ค.นี้ 

ทั้งนี้ต้องรอศาลรัฐธรรมนุญวินิจฉัยภายใน 16 ส.ค. นี้ ซึ่งถ้าโหวตนายกฯได้ในเดือนส.ค. ก็น่ามีความชัดเจนในตัวนายกฯ  แต่หากเกินเดือนส.ค.จะทำให้จัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ยาวนานเกิน 4 เดือน ขณะที่เศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดีนัก เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวมากกว่าคาด 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบุันพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพียงขณะนี้อยู่ในช่วงการต่อรองตำแหน่ง การเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ก็มีความโดดเด่น เพราะเป็นนักธุรกิจ จะรู้เรื่องเศรษฐกิจดี มีเป็นคุณสมบัติ ที่ สว.น่าจะโหวตให้

ส่วนพรรคก้าวไกล ซึ่งเคยเป็นเงื่อนไขก็ถูกตัดออกไปแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่โหวตให้นายเศรษฐา ดังนั้น การโหวตนายกฯ ควรชัดเจนได้แล้ว  โดยเห็นว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ อย่าเล่นการเมือง หรือแย่งเค้กกัน ขอให้เห็นแก่ ประชาชน และเศรษฐกิจประเทศ  เพราะถ้ายืดเยื้อยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ

นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ ธนาคารไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ เพราะต้องการรอดูความชัดเจนทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อภาคธุรกิจ และภาคประชา ชน 

สำหรับข้อเสนอรัฐบาลใหม่คือ เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ให้เป็นภาระกิจเร่งด่วน โดยเฉพาะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน  การแก้ปัญหาภัยแล้ง ปรับโครงสร้าง หนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึง 91% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 16 ล้านล้านบาท

\"เอกชน\" หวั่นตั้งรัฐบาลยืดเยื้อทุบเศรษฐกิจ  
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้า ไทย กล่าวว่า การเลื่อนโหวตนายกฯ ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นการลงทุน เพราะนักลงทุนรอดูนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ก่อนตัดสินใจลงทุนเพิ่ม และอยากให้ได้นายกรัฐมนตรีโดยเร็ว

“ ถ้าได้นายกรัฐมนตรีเดือนส.ค.ก็ยิ่งดี แต่ถ้าเลื่อนก็ไม่ควรเกินพ.ย. เพราะการไม่มีรัฐบาลทำให้เกิดช่องว่างทางนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตรงนี้กระทบความเชื่อมั่น"

อย่างไรก็ตาม  ต้องติดตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรนูญในวันที่ 16 ส.ค.นี้ก่อน หากศาลวินิจฉัยไม่รับคำร้องดังกล่าว เชื่อว่า สามารถเดินหน้าโหวตนายกฯได้เลยภายในส.ค. แต่หากศาลฯพิจารณารับคำร้อง จะทำให้การโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลลากยาวต่อไปอีก

ทั้งนี้คาดว่าต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อย ครึ่งเดือน ถึง 1 เดือน ซึ่งหากเกินเดือนก.ย.ก็จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ แม้จะสามารถใช้งบเก่าไปพลางก่อนได้ แต่จะไม่มีงบลงทุน เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ 

ส่วนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่เสนอ 2 ประเด็น คือ 1.แถลงนโยบายต่อสภาฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ต่อการตัดสินใจในการลงทุนของภาคเอกชน

 2. เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในทุกมิติ  ส่วนนโนยบายที่หาเสียงที่ได้ประกาศไว้กับประชาชน อยากให้ทยอยพิจารณาอย่างรอบครอบก่อนดำเนินการ โดยพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

สำหรับปัญหาเรื่อง ต้นทุน เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมัน หรือ ดอกเบี้ยที่สูง เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี เชื่อว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เตรียมข้อเสนอไว้พร้อมแล้ว เมื่อได้รัฐบาลใหม่ก็สามารถนำเสนอ เพื่อให้รัฐดำเนินการได้ทันที