วานนี้ (21 มิ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 18.30 ตามเวลาประเทศไทย ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของ “องค์การนิทรรศการนานาชาติ” หรือ Bureau International des Expositions (BIE) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศผลประเทศเจ้าภาพการจัดงาน “Specialised Expo 2027/2028” หรือ “เอ็กซ์โปวาระพิเศษ”
หนึ่งในเมกะอีเวนต์ระดับโลก โดยมีประเทศเข้าชิงรอบสุดท้ายจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐ สเปน เซอร์เบีย และอาร์เจนตินา ซึ่งจากการโหวตของประเทศสมาชิก BIE จำนวน 124 ประเทศ มีมติให้ เซอร์เบีย เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้
สำหรับประเทศไทยได้นำเสนอ จังหวัดภูเกต เป็นพื้นที่ในการจัดงาน ภายใต้ชื่องาน “Expo 2028 Phuket Thailand” ในการจัดงานรวม 141 ไร่ บริเวณตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณ 4,180 ล้านบาท
ดับฝันดัน “ภูเก็ต” เป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก”
หากไทยได้รับการโหวตเป็นเจ้าภาพ การจัดงานครั้งนี้ภายใต้แนวคิดการจัดงานคือ “Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity” หรือ “ชีวิตแห่งอนาคต แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว” จะช่วยผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ภายใต้การดำเนิน “โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก” ประกอบด้วย ศูนย์สุขภาพและการแพทย์นานาชาติ (Medical Plaza)
ศูนย์อภิบาลผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของโครงการนี้ประเมินว่าจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2570 ให้ทันรองรับการจัดงาน Specialised Expo ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2571
ชวดเม็ดเงินเข้าประเทศกว่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้เคยประเมินไว้ว่า หากไทยได้เป็นเจ้าภาพSpecialised Expo 2027/2028 ไทยจะได้รับประโยชน์ ดังนี้
1.ด้านเศรษฐกิจ จะมีเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศจากนักเดินทางทั้งคนไทยและต่างชาติรวมกว่า 4.92 ล้านคนจาก 106 ประเทศทั่วโลก มีเงินสะพัดกว่า 49,231 ล้านบาท และมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากกว่า 39,357 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่า 9,512 ล้านบาท สร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) 9 เท่า และเกิดการจ้างงานมากกว่า 113,439 ตำแหน่ง
2.ด้านการพัฒนาเมืองของจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดในกลุ่มอันดามันคลัสเตอร์ ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี รวมถึงโอกาสการกระจายรายได้ของนักเดินทางต่างชาติในการจับจ่ายใช้สอยไปยังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
3.ด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในการเป็นจุดหมายปลายทางด้าน “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้” โดยจะก้าวสู่การเป็น “ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก” ช่วยยกระดับทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้เป็นเมืองด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4.ด้านการบริหารและพัฒนาพื้นที่หลังการจัดงาน ในกรณีของจังหวัดภูเก็ต พื้นที่ อาคาร และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด จะพัฒนาเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร ศูนย์อภิบาลผู้สูงอายุนานาชาติ ศูนย์ใจรักษ์ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติ และ Ecological Park อีกด้วย