30 มีนาคม 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. กล่าวถึง กรณีที่ กระแสของโลกในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ให้ความสำคัญในการเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน โดยนำมาใช้เป็นเงื่อนไขหลัก ในการรับซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งยางพาราด้วย
เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสดังกล่าว กยท. จึงเดินหน้าจัดทำ "มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต" หรือ "มาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)” เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ ถึงแหล่งกำเนิดของผลผลิตยาง และผลิตภัณฑ์จากยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และรวดเร็ว
ทั้งนี้เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ายาง และผลิตภัณฑ์จากยางรายใหญ่ของโลก ทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดกฎหมาย เกี่ยวกับการนำเข้ายาง และผลิตภัณฑ์จากยาง จะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า หลังจากปี 2562 (ค.ศ. 2019) รวมถึงการจัดการสวนยางพารา ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม
นายณกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่สอดคล้อง เพื่อสนับสนุนมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ มาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดทำข้อมูลแปลงปลูกยางของเกษตรกร การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกร ข้อมูลการรับซื้อยาง ของสหกรณ์การเกษตร ข้อมูลการซื้อขายยางพารา ของตลาดกลางยางพารา ของ กยท.
ตลอดจนข้อมูลแปรรูปยาง ของบริษัทเอกชนผู้รับซื้อยาง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มา ของยางและผลิตภัณฑ์ยางได้ว่า มีแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่มา ของผลผลิตยาง ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต
กยท. ได้ตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะสามารถ แสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด ภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้ กยท. มีความพร้อมในการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
โดยจะนำเอา ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ GIS (Geographic Information System) ซึ่งเป็นระบบบันทึกข้อมูล และพิกัดที่ตั้งของสวนยาง ในรูปแบบของแผนที่ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่า ยางพารามาจากแหล่งกำเนิดใด ควบคู่กับการใช้ แอปพลิเคชั่น RUBBERWAY ที่ใช้ในการตรวจสอบการ จัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิ สังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต จะเป็นโอกาสทองของยางพาราไทย ในการพัฒนาระบบการจัดการสวนยาง ที่ถูกต้องตามหลักสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เนื่องจากประเทศคู่แข่ง ในการส่งออกยางพาราของไทย (อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา) ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว แต่ประเทศไทยมี กยท. ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จึงได้เปรียบคู่แข่งในการขยายตลาด ทำให้ราคายางในอนาคตมีเสถียร ภาพมากขึ้นอีกด้วย
"เชื่อว่ามาตรการดังกล่าว จะไม่ใช่บังคับแค่ ยุโรป และสหรัฐ เท่านั้น จีน ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อยางรายใหญ่ของไทย ก็จะต้องนำมาใช้บังคับในการซื้อยาง ในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะจีนจะต้องส่งออกผลิตภัณฑ์ ที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ ไปยังตลาดยุโรป และสหรัฐ ที่ต้องการตรวจสอบย้อนกลับเช่นกัน ขณะนี้ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ที่ส่งออกยาง ที่สามารถแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี
สำหรับมาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต กยท. จะดำเนินการควบคู่กับการพัฒนา ปรับปรุงสวนยางพาราของไทย ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการ เพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาว
การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ โดยมาตรฐานนี้กำหนดให้มีการป้องกันสวนป่า จากการทำผิดกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น Forest Stewardship Council (FSC) หรือ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ภาย ในปี 2571 สวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. อย่างน้อย 50% หรือประมาณ 10 ล้านไร่ จะต้องผ่านมาตรฐาน มอก.14061 และสวนยางพาราของไทยทั้งหมด จะเป็นสวนยางที่ได้มาตรฐาน ภายใน 20 ปี