"นิชานท์ สิงหพุทธางกูร" และ "ธนันท์ ชาลดารีพันธ์" สองนักวิชาการ นำเสนองานวิจัย การพิจารณา "นายกฯ 8 ปี" ตามแนวการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ "เนชั่นทีวีออนไลน์"เห็นว่ามีเนื้อหาที่ชวนให้พิจารณาอย่างยิ่ง จึงขอนำเสนอเป็น
<<<อ่านประกอบ>>>
"8 ปี นายก" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 1
"8 ปี นายก" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 2
"8 ปี นายก" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 3
"8 ปี นายกฯ" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วงตอนที่ 4
ตอนที่ ๕
คำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๑ เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาล
คดีนี้เกิดจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของสมาชิกเทศบาลในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ กล่าวคือ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ สภาเทศบาลอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๖ วรรคหนี่ง บัญญัติให้สมาชิกสภาเทศบาลอยู่ในตำแหน่งได้คราวละห้าปี แต่พอประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ มาตรา ๒๘๕ วรรคห้า บัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี จึงมีปัญหาว่า สมาชิกสภาเทศบาลซึ่งดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาในวาระเริ่มแรก จะดำรงตำแหน่งต่อจนครบวาระ ๕ ปีตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ หรือ ๔ ปีตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐
คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า ปัญหานี้เป็นกรณีที่พระราชบัญญัติเทศบาลมีบทบัญญัติขัดหรือแย้งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง จึงใช้บังคับมิได้ จะต้องใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘๕ วรรคห้า
ส่วนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เห็นว่า เนื่องจากหลักการตีความกฎหมาย ถ้ากฎหมายใดมีผลย้อนหลังเป็นโทษย่อมไม่มีผลใช้บังคับ
นอกจากนั้นยังยกอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จะมีการทอดระยะเวลาการใช้บังคับทั้งหมด กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องหมดสมาชิกภาพ หากไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือการบังคับให้ต้องสังกัดพรรคการเมืองที่จะต้องลงสมัครในนามพรรคนั้น ๆ ไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ตามรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่ใช้บังคับกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน หรือคณะรัฐมนตรีซึ่งจะต้องมีจำนวน ๓๕ คน รวมนายกรัฐมนตรีอีก ๑ คน ตามรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่ใช้บังคับจนกว่าจะมีการเลือกตั้งชุดใหม่ ฯลฯ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในภาพรวมของรัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะไม่ให้มีผลกระทบกระเทือนถึงสถานะขององค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามข้อกำหนดหรือข้อกฎหมายเดิมแต่อย่างใด จึงเห็นว่า สมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ควรจะมีวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง คือ คราวละ ๕ ปี
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ว่า
...เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ได้บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” และมาตรา ๒๘๕ วรรคห้า ได้บัญญัติว่า “สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มีควาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี” และรัฐธรรมนูญไม่มีบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งได้รับการเลือกตั้งก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น การที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้สมาชิกสภาเทศบาลอยู่ในตำแหน่งได้คราวละห้าปี จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับกรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง แต่เป็นเรื่องกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดขอประเทศ
จะเห็นว่า ปัญหาวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาลนั้น ศาลถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง ซึ่งแสดงว่า บทบัญญัติมีความสำคัญเป็นลำดับแรก ดังนั้นเมื่อในบทเฉพาะกาลไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาล จึงทำให้วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาลต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มิใช่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ประเด็นของคดีนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาว่าจะเริ่มนับการดำรงตำแหน่งสมาชิกเทศบาลเมื่อใด เมื่อได้รับเลือกตั้ง หรือเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหามีว่า จะใช้บังคับบทบัญญัติว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ หรือตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐
เมื่อนำมาพิจารณาประเด็นการใช้บังคับมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ กับนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ก็อาจพิจารณาตามสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยได้ว่า ที่มาของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ หรือตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ เพราะหากใช้บังคับบทบัญญัติว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ ก็อาจเป็นการใช้บังคับกฎหมายย้อนหลัง
แต่แน่นอนว่า ถ้าพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔/๒๕๔๑ จะไม่ถือเป็นการใช้บังคับบทบัญญัติย้อนหลัง และอาศัยบทบัญญัติเฉพาะกาลมาตรา ๒๖๔ ที่ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวคือ มาตรา ๑๕๘ นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ ด้วย
เมื่อพิจารณามาตรา ๒๖๔ วรรคสอง ก็จะเห็นว่า ในเมื่อคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ มีบางกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า หากใช้บังคับทุกกรณีตามบทบัญญัติ จะทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีดังกล่าวขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ซึ่งทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จึงได้บัญญัติยกเว้นใช้บังคับกรณีดังกล่าว
นอกจากนั้น เมื่อมาเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่ กับจะพ้นจากตำแหน่งหรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวในระหว่างการดำรงตำแหน่ง หรือก่อนที่คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นจะเข้ารับหน้าที่ ก็ให้เป็นไปตามมาตรา ๑๗๐ สำหรับการสิ้นสุดลงของรัฐมนตรีก็ให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ส่วนนายกรัฐมนตรีก็เพิ่มตามวรรคสอง ด้วย ส่วนกรณีต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ก็ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามวรรคสาม
คำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๑ นี้ มีคำวินิจฉัยส่วนตน ๒ เรื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๒ ท่านที่น่าสนใจ คำวินิจฉัยส่วนตนฉบับแรกเป็นของนายประเสริฐ นาสกุล มีความตอนหนึ่งว่า
รัฐธรรมนูญ หมวด ๙ การปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อยกเว้นในบทเฉพาะกาลอยู่แล้วหลายเรื่อง คือ มาตรา ๓๒๗ (๙) มาตรา ๓๓๔ (๑) และ (๔) และมาตรา ๓๓๕ (๗) และ (๘) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรา ๒๘๕ ซึ่งมีอยู่แปดวรรค มีเพียงสองวรรค ซึ่งบัญญัติว่า “สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง” และ วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น” โดยมีข้อยกเว้นอยู่สองแห่ง คือ
ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๓๓๕ (๗) หนึ่งแห่งว่า “มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา ๒๘๕ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับกับสมาชิกหรือผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นสมาชิกหรือผู้บริหารโดยตำแหน่ง และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว”
และในบทเฉพาะกาล มาตรา ๓๓๔ (๔) อีกหนึ่งแห่งว่า “ให้ดำเนินการให้มีคณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นตามมาตรา ๒๘๕ วรรคสาม ให้ครบถ้วนภายในสองปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา ๓๓๕ (๗)”
สรุปได้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘๕ ซึ่งมีบทบัญญัติทั้งหมดรวมแปดวรรคด้วยกัน บทบัญญัติวรรคหนึ่ง วรรคสี่ วรรคห้า วรรคหก วรรคเจ็ด และวรรคแปด ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น วรรคสองถูกยกเว้นโดยมาตรา ๓๓๕ (๗) ส่วนวรรคสามถูกยกเว้นโดยมาตรา ๓๓๔ (๔) และมาตรา ๓๓๕ (๗) สำหรับวรรคห้า ซึ่งเป็นปัญหานี้ไม่มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไว้แต่อย่างใด ดังนั้น
ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญได้บัญญัติ มาตรา ๒๘๕ ไว้ชัดเจนและรอบคอบแล้ว บทบัญญัติวรรคใดจะให้มีข้อยกเว้นก็ได้ บัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดอีก
จะเห็นว่า นายประเสริฐ นาสกุล ได้ใช้วิธีนำบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นมาพิจารณา ซึ่งทำให้เห็นว่า บทเฉพาะกาลได้ยกเว้นไว้หลายกรณี เมื่อพิจารณามาตรา ๒๖๔ วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ รัฐธรรมนูญก็ยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้หลายกรณี
อีกคำวินิจฉัยหนึ่ง เป็นของศาสตราจารย์ โกเมน ภัทรภิรมย์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีความตอนหนึ่งว่า
สำหรับข้ออ้างของสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ ว่าตามหลักการตีความกฎหมาย ถ้ากฎหมายใดมีผลย้อนหลังเป็นโทษ ย่อมไม่มีผลใช้บังคับนั้น เป็นหลักการตีความที่ใช้ในกฎหมายอาญาสารบัญญัติซึ่งมีที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๒ ว่า "บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำผิดมิได้" ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ ก็บัญญัติหลักนี้ไว้เช่นเดียวกันว่า "บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย"
ซึ่งเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๒ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ บัญญัติถึงแต่เรื่องความผิดและโทษ จึงเป็นเรื่องทางอาญาเท่านั้นว่า ต้องใช้ “กฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิด” ซึ่งเป็นการนำเอาหลักกฎหมายในทางอาญาที่ว่า กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังมาบัญญัติไว้ หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังนั้นไม่ใช่กรณีที่เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ หรือกฎหมายอื่น คงใช้เฉพาะในกรณีความผิดทางอาญาเท่านั้น ปัญหาว่าวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาท้องถิ่น (เทศบาล) จะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี หรือคราวละห้าปี มิใช่ปัญหาความผิดทางอาญา จึงไม่อาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๒ หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ มาใช้กับกรณีนี้
จะเห็นว่า ศาสตราจารย์ โกเมน ภัทรภิรมย์ ได้ใช้วิธีนำบทบัญญัติว่าด้วยการใช้หลักกฎหมายที่มีผลย้อนหลังมาพิจารณา แล้วชี้ให้เห็นว่า กรณีวาระหรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนั้น จะใช้หลักกฎหมายมีผลย้อนหลังมาพิจารณาไม่ได้
สรุปแล้ว การพิจารณาว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ ๘ ปีในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาตามแนวการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นว่า นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง มาตรา ๒๖๔ จะเริ่มนับเมื่อได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ตามบทบัญญัติมาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง โดยพิจารณาประกอบกับมาตรา ๑๕๘ และการพิจารณาบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลว่าด้วยการให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ กับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ มาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรก รวมทั้งประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนที่เกี่ยวกับพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี
และเมื่อได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีติดต่ออีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ก็จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันครบ ๘ ปีในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕