svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

เหตุเกิดบัญชีแบงก์ "บิ๊กโจ๊ก" สู่ฟอกเงิน คดีอาจพลิก - ป.ป.ช.แพ้ฟาลว์?

แกะรอยเอกสารลับ จากมติ ป.ป.ง อายัดบัญชีเงินฝาก"บิ๊กโจ๊ก" สู่ สำนวน บก.ปปป. 1,420 หน้า อยู่ในมือ ป.ป.ช. การต่อสู้สุดท้ายอาจนำไปสู่คดีพลิก ป.ป.ช.แพ้ฟาลว์ ? ติดตามรายละเอียด จาก "กระบี่เดียวดาย"

24 กันยายน 2567  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีสำนักงาน ปปง. มีคำสั่งที่ ย.143 /2567 ลงวันที่ 6 ส.ค. 2567 ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ของ "นายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์" กับพวก ( คดีเว็บพนันมินนี่ ) ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน โดยเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (เว็บไซต์ https://www.betilkrcyal.net ) และความผิดฐานฟอกเงิน

 

โดยเป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ในชื่อ "นางศิรินัดดา  หักพาล" และ "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล" จำนวน 3 รายการ รวม 481,351.72 บาท มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ( ตั้งแต่ วันที่ 6 สิงหาคม - 3 พฤศจิกายน 2567 ) ที่เป็นเงินจากการเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตราวสามล้านบาทเศษ ซึ่งพบว่า "พล.ต.อ.สุรเชษฐ์"  ร้องขอความเป็นธรรมกับ ปปง.ในกรณีนี้ตั้งแต่ช่วง เดือนเม.ย.ด้วยนั้น

 

รายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ครั้งที่ 10 /2567

บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ครั้งที่ 10/2567

ผู้สื่อข่าวรายงาน โดยสรุปว่า รายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม 10/2567 เมื่อวันที่ 6 ส.ค. วาระที่ 6.6.1 (5) และมติคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานปปง.ครั้งที่11/2567 วันที่18 ก.ย.2567 ที่มีมติอายัดเงินในบัญชีธนาคารสามรายการของ " พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์" และภริยานั้น  พบว่า "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" ถอนเงินสดสองล้านบาทในปี 2565  มอบให้ "พ.ตท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ" สองครั้ง โดยพบว่า "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" มอบเงินสดให้กับ "พ.ต.ท.คริษฐ์" จำนวน 500,000 บาท  จากนั้น "พ.ต.ท.คริษฐ์"  นำเงินสดจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีของตนเองก่อนแล้วจึงโอนไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารบุคคลอื่น( บัญชีม้า ) แต่ไม่ปรากฎหลักฐานในการทำธุรกรรม จากนั้น "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" มอบเงินสดให้กับ "พ.ต.ท.คริษฐ์" จำนวน 1,335,100 บาท ซึ่ง "พ.ต.ท.คริษฐ์" ได้นำเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชีบุคคลอื่น(บัญชีม้า)แต่ไม่ปรากฎหลักฐานในการทำธุรกรรม
 

มติ กรรมการธุรกรรม โดยคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่11/2567พิจารณาแล้วว่ามีการนำเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานไปชำระเบี้ยประกันบางส่วนตามสัญญาประกันชีวิตของ "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" และภริยา และต่อมาผู้เอาประกันทั้งสองได้เวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต  โดยที่ "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" และภรรยา รู้อยู่แล้วว่าสำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อครั้งที่ "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" ได้มีหนังสือมาร้องขอความเป็นธรรม ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.2567 ซึ่งต่อมาในวันที่ 24 เม.ย.2567 "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" และภรรยา ก็ได้มีการเวนคืนกรมธรรม์/ ได้เงินมา /ได้มีการโอนออกไป/ถอนเป็นเงินสด โดยละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบรายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม 10/2567 เมื่อวันที่ 6 ส.ค. วาระที่ 6.6.1 (5) 

บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ครั้งที่ 10/2567

บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ครั้งที่ 10/2567

"การเวนคืนกรมธรรม์ดังกล่าวบางส่วนนั้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า "นายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์"  กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน โดยเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (9) และมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน" มติกรรมการธุรกรรม โดยคณะกรรมการธุรกรรม ระบุ
 
 
แหล่งข่าวจาก "สำนักงานป.ป.ช."แจ้งว่า  หากพิจารณาตามเอกสารของปปง.ล่าสุดนั้น กรณีนี้เข้าข่ายการฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งพบว่าหนึ่งบัญชีธนาคารของ "พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์" ตามที่รายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม 10/2567 เมื่อวันที่ 6 ส.ค. วาระที่ 6.6.1 (5) และมติคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานปปง.ครั้งที่11/2567 วันที่ 18 ก.ย. 2567ระบุนั้น  
 

เหตุเกิดบัญชีแบงก์ \"บิ๊กโจ๊ก\" สู่ฟอกเงิน คดีอาจพลิก - ป.ป.ช.แพ้ฟาลว์?

แหล่งข่าวจากสำนักงานป.ป.ช.  แจ้งว่า จากการตรวจสอบชั้นต้นในสำนวน 1,420 หน้าของ บก.ปปป.ที่ส่งให้ป.ป.ช.ดำเนินการนั้น พบว่า หนึ่งบัญชีธนาคารตามที่"พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์"ใช้ในการรับเงินเวนคืนค่ากรมธรรม์ประกันชีวิตครั้งนี้นั้น  ป.ป.ช. พบข้อมูลของบก.ปปป.ที่ระบุว่า "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" เตรียมยื่นต่อสำนักงานป.ป.ช. เพื่อแสดงว่าเป็นบัญชีที่ไว้ใช้สำหรับการรับเบี้ยประชุม/เงินอื่นๆในช่วงที่ทำหน้าที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจในช่วงหนึ่งเพราะกฎหมายระบุว่า ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในช่วงก่อนรับตำแหน่ง-หลังพ้นตำแหน่งทุกสามปี

ป.ป.ช.เคยทำหนังสือถึง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์  ให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงรายการบัญชีทรัพย์สินที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพ.ย.2565

 

เหตุเกิดบัญชีแบงก์ \"บิ๊กโจ๊ก\" สู่ฟอกเงิน คดีอาจพลิก - ป.ป.ช.แพ้ฟาลว์?
 
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.แจ้งว่า  โดยบัญชีธนาคารเล่มนี้ พบว่า เป็นหนึ่งรายการในร่างหนังสือการชี้แจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฯในคอมพิวเตอร์ของ "พ.ต.ท.คริษฐ์" ที่สื่อสารทางระบบแชทไลน์กับเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ในการตกแต่งบัญชีทรัพย์สินฯและรอให้ " พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" ลงนามก่อนยื่นให้ ป.ป.ช. ซึ่งบก.ปปป. ตรวจพบ และ บก.ปปป. ระบุว่า เครือข่ายเว็บพนันออนไลน์น่าจะเชื่อมโยงกับ"พ.ต.ท.คริษฐ์"ที่ใช้บัญชีม้าของเครือข่ายนี้ในการทำธุรกรรมหลายประเภท/หลายครั้งโดยที่ "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" น่าจะมีส่วนรับรู้ด้วย
 
 
 
แหล่งข่าวจากสำนักงานป.ป.ช. แจ้งว่า กรณีที่ "พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา" ผบช.สอท.  ปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 493/2566 ทำลงนามคำสั่งหนังสือลับด่วนที่สุด เรื่องขอทราบมติการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 และคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ถึงเลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อ้างตามหนังสือของ สน.ทุ่งมหาเมฆสองฉบับที่ได้รายงานการดำเนินคดีในความผิดฟอกเงินและความผิดมูลฐานต่อนายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวก ถูกกล่าวหาชักชวนเล่นพนันออนไลน์และร่วมกันฟอกเงิน

 

"พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา" ผบช.สอท.  ปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 493/2566 ทำลงนามคำสั่งหนังสือลับด่วนที่สุด เรื่องขอทราบมติการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2567
 

ซึ่งสำนักงาน "ป.ป.ช."  ได้มีหนังสือถึงคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อไปให้ถ้อยคำพร้อมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะกรรมการ "ป.ป.ช." ในเรื่องที่กล่าวหาร้องเรียน "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์" โดยเฉพาะพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงิน และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ "ป.ป.ช." นั้น
 
 
 
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.แจ้งว่า กรณีข้างต้นอาจเกิดปัญหาทางข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหา โดยพิจารณาจากสิ่งที่ "พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ" อดีตประธานป.ป.ช. เคยให้สัมภาษณ์ก่อนพ้นจากตำแหน่งว่า คดีของ"พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์"และพวก ในคดีฟอกเงินจากเว็บพนันออนไลน์ มินนี่ 2 และ BNK Master โดยผู้ถูกกล่าวหาบางส่วนที่มี "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์"และพวกรวมแปดคนรวมอยู่ด้วยนั้น ในช่วงกระทำผิดพบว่า "พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์"ดำรงตำแหน่งระดับรอง ผบ. ตร.    

 

ดังนั้น มติที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.เสียงข้างมาก จึงรับเรื่องนี้ไว้ และถือเป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ที่ดำเนินการตามกฎหมาย ที่จะพิจารณาเรื่องนี้และเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน หากป.ป.ช.ทำไม่ถูกต้องก็มีกระบวนการที่จะตรวจสอบนั้น 
 
"น่าจะเกิดปัญหาบางประการในอนาคตกับป.ป.ช.หากผู้ถูกกล่าวหาอาจใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการต่อสู้คดีว่าอำนาจในการดำเนินคดีนี้ไม่ใช่อำนาจของป.ป.ช."

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานป.ป.ช. กล่าวและว่า ก่อนหน้านี้บช.น.ส่งหนังสือแจ้งป.ป.ช.ระบุว่า กฎหมายฟอกเงินไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับ"พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์"และพวกนั้น แต่คณะกรรมการป.ป.ช.เสียงข้างมากลงมติแล้วว่า  ป.ป.ช.จะรับคดีนี้มาดำเนินการเองนั้น ตรงนี้อาจจะขัดกับมติคณะกรรมการป.ป.ช.ที่ชี้แจงกับสื่อมวลชน
 
แหล่งข่าวจากสำนักงานปปช.แจ้งว่าหากพิจารณาจากการแถลงข่าวและเอกสารข่าว (https://www.nacc.go.th/files/article/attachments/main_old_article_20180530180546.pdf) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 25612561 กรณีบก.ปปป.ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีกล่าวหา "นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์"  อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพวก ว่าทุจริตเงินงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในหลายวาระ(ล็อตที่สาม) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าสำนวนการสอบสวนที่"บก.ปปป." ส่งมานั้นเป็นกรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ "ป.ป.ช." 

แต่เนื่องจาก"บก.ปปป." ได้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาบางรายในความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งมีมูลฐานจากคดีความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงมีมติส่งเรื่องให้ผบ.ตร. มอบหมายให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาพิจารณาดำเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ ของรัฐดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่  ตามนัยมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป


"บก.ปปป. พบว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์เตรียมอ้างกับป.ป.ช.เงินประกันชีวิตของตนเเละภริยานั้นนายบัญชา พานิชพงศ์ บิดาของภริยาชำระให้ หากมองข้อมูลของปปง.ล่าสุดข้อมูลนี้ย้อนเเย้งกันเองเเละต้องไล่ตรวจอย่างละเอียดกับบุคคลของป.ป.ช.ที่มีชื่อในคอมพิวเตอร์ของพ.ต.ท.คริษฐ์ในการช่วยเเต่งบัญชีทรัพย์สินฯคราวนี้"
 

"ตรงนี้เกิดความย้อนแย้งในมติของคณะกรรมการป.ป.ช.ขึ้นแล้ว โดยเทียบคดีเงินทอนวัดกับคดีของพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เพราะจุดนี้อาจเปิดช่องว่างทางกฎหมายซึ่งผู้ถูกกล่าวหาอาจใช้เทคนิคและช่องว่างทางกฎหมายที่จะอ้างว่าองค์กรใดมีอำนาจหน้าที่และสมควรรับผิดชอบคดีนี้  เพราะตอนนี้โอกาสเข้าข่ายการฟอกเงินสูง ซึ่งตามกฎหมายนั้น ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจหน้าที่สอบสวนตรงนี้และต้องมอบพนักงานสอบสวนรับไปดำเนินการ
 
 และหากมีการสั่งฟ้องไปที่ศาล หากศาลมองว่าหน่วยงานที่สั่งฟ้องคือป.ป.ช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย คดีก็ยกฟ้องทันที และใครจะรับผิดชอบ 


หากป.ป.ช.ไม่มีการพิจารณากันใหม่ให้รอบคอบ  แม้ มติคณะกรรมการป.ป.ช. เสียงข้างมากในตอนนั้นจะอ้างว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. ที่จะดำเนินการคดีนี้ก็ตาม" แหล่งข่าวจากสำนักงานป.ป.ช. ระบุ