svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

เช็กท่าที พรรคการเมือง "แก้รธน.รายมาตรา" ไปต่อหรือพอแค่นี้

จับจังหวะ พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล - พรรคร่วมฝ่ายค้าน "แก้รธน. รายมาตรา" ภายหลัง "นายกฯแพทองธาร" ส่งสัญญาณหลังหารือหัวหน้าพรรคร่วมฯ กับประโยค "ขอแก้ปัญหาประชาชนก่อนแก้รธน." โดย กระบี่ เดียวดาย

ภายหลังการแถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่"พรรคเพื่อไทย" ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งต่อมา มีท่าทีจากแกนนำพรรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าเป็น"พรรคภูมิใจไทย" , "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับ "การแก้ไข รธน.รายมาตรา" อีกทั้งเห็นว่า เวลานี้ควร แก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชน เป็นวาระสำคัญก่อนแก้ไขรธน. 

 

"ได้คุยกับรองนายกรัฐมนตรีหลายท่าน รวมถึงหัวหน้าพรรคร่วม เรามีความคิดเห็นกันว่า ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลควรเน้นย้ำ คือเรื่องของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากจะบอกว่าถ้ารัฐบาลมั่นคง เสถียรภาพการเมืองมั่นคง ประเทศชาติก็มั่นคงไปด้วย อันนี้นักข่าวก็ต้องช่วยกันเรื่องนี้"  

เช็กท่าที พรรคการเมือง \"แก้รธน.รายมาตรา\" ไปต่อหรือพอแค่นี้

 

ถ้อยแถลงตอนหนึ่ง ของ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่แสดงภาวะผู้นำ ต่อการตัดสินใจ ในประเด็นคำถามของสื่อเกี่ยวกับ การแก้ไขรธน. ที่มีบางพรรคในพรรคร่วมไม่เห็นด้วย เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 

 

หากจับจังหวะ คำแถลงของ "แพทองธาร" ครั้งนี้ ดูเกิดขึ้นหลัง การพูดคุยกับระดับรองนายกรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ก็คือหัวหน้าพรรคการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลอีกเช่นกัน  

 

 

"ชาติไทยพัฒนา" ไม่รีบร้อนแก้รธน.

สอดคล้องกับที่ "วราวุธ ศิลปอาชา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อีกสถานะคือ "หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา" ออกมาเปิดเผยหลังประชุมครม. ด้วยท่วงทำนองคีย์เดียวกันกับ นายกฯแพทองธาร  ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมหารือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นรัฐมนตรีว่า

"ทุกคน มีความเห็นตรงกับนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ขณะนี้จะต้องให้ความสำคัญกับประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางภาคเหนือ และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังประสบภัยก่อน ก่อนที่จะไปคุยเรื่องอื่น เช่นเดียวกับ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา" ก็เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ค่อยคุยกันภายหลัง เพราะตอนนี้ต้องทำให้ประชาชนกลับมามีสภาพแวดล้อมและชีวิตตามปกติก่อน"

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ขอตอบคำถามสื่อ เรื่องการแก้ไขรธน. ในจังหวะที่แพทองธาร กำลังแถลงข่าว

 

หากไล่เลียงกัน จากท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล ที่แสดงท่าทีชัดเจนมากที่สุดและมาก่อนที่สุด เห็นหนีไม่พ้น"พรรคภูมิใจไทย" ที่มี "อนุทิน ชาญวีรกูล" เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และวันนี้ ระหว่างที่ สื่อยิงคำถาม "แพทองธาร" ต่อการไปต่อหรือไม่ ในการแก้ไขรธน.รายมาตรา มีอยู่จังหวะหนึ่งที่ "อนุทิน" ยืนอยู่หลังนายกฯ ยังขอแทรกไมค์ ตอบสื่อว่า "ไม่ได้กลับลำครับ ขอทำงานให้พี่น้องประชาชนก่อน"


 

ภท.ไม่แก้รายมาตรา แต่แก้รธน.ต้องผ่านประชามติ

หากความชัดเจนต่อท่าที "พรรคภูมิใจไทย" ยังเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ( 24 กันยายน 2567 ) เมื่อ "กรวีร์ ปริศนานันทกุล"  สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย​ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค​ฯ เปิดเผยผลการประชุม สส.ประจำสัปดาห์​ว่า​ ที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ โดยจะต้องเดินหน้าสู่การทำประชามติ ซึ่งขณะนี้กฎหมายประชามติได้ผ่านชั้น สส.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สว.​และคาดว่า อีกไม่นานจะมีการบังคับใช้​ พร้อมย้ำว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ​ ที่ต้องได้รับการยินยอมจากคนในสังคม และเชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.จะเป็นวิธีการที่ทำให้สังคม เกิดการยอมรับในกติกา และการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

 

"ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ​ ควรที่จะแก้ไขทั้งฉบับ ผ่านคนกลางจากทุกภาคส่วน ในรูปแบบ สสร.ที่เคยทำกันมา และย้ำอีกว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 256 และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นการแก้ไขในหมวด 1 รูปแบบรัฐ และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่จะต้องไม่มีการแตะต้อง"  สส.ภูมิใจไทยรายนี้ กล่าวย้ำ  

 

ขณะที่ "ไชยชนก ชิดชอบ" สส.​บุรีรัมย์​ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะเลขาธิการพรรคฯ ระบุว่า​ พรรคฯ ไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคเพื่อไทย เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นมาตรฐานจริยธรรมแต่อย่างใด พร้อมย้ำว่า เรื่องมาตรฐานจริยธรรม เป็นคุณสมบัติที่จำเป็น และเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของนักการเมือง และพรรคการเมือง

 

"พปชร."  ค้านแก้รธน.ทุกมิติ

เมื่อหันไปดู "พรรคพลังประชารัฐ" พรรคการเมืองที่มีโครงสร้างบริหารงาน"แบบคนละครึ่ง"  กล่าวคือ ก๊กหนึ่ง ฝั่งรอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ตอนนี้อยู่ร่วมรัฐบาล ส่วนอีกก๊กหนึ่ง "ฝั่งลุงป้อม"  ประกาศ เป็นฝ่ายค้านในสภา มีท่าทีต่อการแก้ไขรธน.อย่างไร   

 

"พล.ต.ท.ปิยะ   ต๊ะวิชัย"  โฆษกพรรคพลังประชารัฐ

"พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย"  โฆษกพรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า ที่ประชุมพูดคุยถึงความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรมตามมาตรา 112 โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ว่าจะเกิดประโยชน์กับบุคคลหนึ่ง หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด พรรคพลังประชารัฐจะคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ในทุกมิติ ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมนักการเมือง หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคทุกคนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรายมาตราหรือทั้งฉบับ โดยเฉพาะเรื่องการลดมาตรฐานจริยธรรม

 

พท.เสนอแก้รธน. 6 ประเด็น ปชน.เสนอแก้ 4 ประเด็น 

ทั้งนี้ "การแก้ไขรธน." ถูกจุดประเด็นขึ้นมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะตั้งแต่กรณีที่ศาลรธน. วินิจฉัย ให้ เศรษฐา ทวีสิน หลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จากความผิดจริยธรรมร้ายแรง ปมแต่งตั้ง "พิชิต  ชื่นบาน" มาเป็นรัฐมนตรี ทำให้ พรรคเพื่อไทย หยิบยก นิยาม "จริยธรรม" ว่ามีความหมายกว้างขวางเกินไป สมควรแก้ไขรธน. ซึ่งสอดคล้องกับ พรรคประชาชน ที่ก่อนหน้านี้ ก็คือ "พรรคก้าวไกล" ต้องประสบชะตากรรมถูกยุบพรรค ทำให้ความพยายามแก้ไขรธน. ถูกโหมกระแสแรงขึ้น  และลุกลามไปสู่การเสนอแก้ไขรธน.ประเด็นอื่นๆ ตามมาอีกด้วย   

 

เช็กท่าที พรรคการเมือง \"แก้รธน.รายมาตรา\" ไปต่อหรือพอแค่นี้

 

เช็กท่าที พรรคการเมือง \"แก้รธน.รายมาตรา\" ไปต่อหรือพอแค่นี้

ตามไทมไลน์  เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567   พรรคประชาชน  ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรายมาตรา ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ต่อประธานสภา  ซึ่ง ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. พรรคประชาชน ก็ออกมาแถลงโต้ข่าวแล้ว การยื่นแก้ไขรธน.รายมาตรา ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ใหันักการเมือง เพราะไม่มี 44 สส. ที่อยู่ในระหว่างป.ป.ช.พิจารณาปมจริยธรรม ร่วมด้วย 

ต่อมา 19 กันยายน 2567  พรรคเพื่อไทย  ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรายมาตรา ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ต่อประธานสภา

 

นี่ยังไม่นับรวมถึง ข้อเสนอการแก้ไขรธน. ทั้งฉบับ ตามแนวนโยบายรัฐบาล ที่ต้องผ่านกระบวนการประชามติก่อนเป็นลำดับแรก ที่จนถึงวันนี้ กำลังรอดูจังหวะท่าที ว่าจะเริ่มกดปุ่มได้เมื่อไหร่  

 

หากแต่นาทีนี้ ความพยายาม "แก้ไขรธน.รายมาตรา"  จึงเหมือนจะเป็นการโยนหินถามทางขึ้นมาก่อนเพื่อทดสอบ อารมณ์ร่วมของสังคม 

แต่อย่างไรก็ดี  "ประธานสภาฯ" วันมูหะหมัดนอร์ มะทา เตรียมที่จะมีการประชุมวิปสามฝ่าย ภายในสัปดาห์นี้หรือราววันที่ 1 ตุลาคม 2567 เมื่อถึงวันนั้น อาจเห็นท่าทีใหม่ผ่านมติวิปสามฝ่ายอีกครั้งก็ได้  อันเนื่องจากการส่งสัญญาณผ่าน "นายกฯแพทองธาร"

มิพักกล่าวถึงท่าทีของวุฒิสภาอีก เพราะอย่าลืมว่ากระบวนการแก้ไข รธน. ยังต้องอาศัยเสียงวุฒิสภาจำนวนไม่น้อย 1 ใน 3 หรือ 66 คน ในการสนับสนุน  ยิ่งเมื่อมาสแกน สว. ดูจะมีสีนำเงินเยอะเสียด้วย และจะสอดคล้องกับท่าทีของ"ภูมิใจไทย"ด้วยหรือไม่ 

 

ฉะนั้น แนวทางแก้ไขรธน.รายมาตรา จะไปต่อหรือพอแค่นี้  หรือ หากไปต่อจะไปแบบใด ต้องจับตา