อุณหภูมิทางการเมืองเพิ่มความร้อนแรงขึ้นทุกขณะ ต่อการชี้ชะตา วาระการดำรงตำแหน่งของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะครบ"วาระ 8 ปี" เมื่อใดกันแน่ มีการเริ่มนับวาระตั้งแต่เมื่อใด โดยที่ฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาเพื่อนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
ขณะที่"เครือข่ายภาคประชาชน"ออกมาโหมไฟการเมือง ให้แรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น "คณะหลอมรวมประชาชน" ที่นำโดย "จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ผนึกกำลังกับ "นิติธร ล้ำเหลือ" ซึ่งเคยอยู่ฟากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาจับมือจัดชุมนุมที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. โดยจะมีการเคลื่อนผู้ชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาลวันที่ 23 ส.ค.กดดันให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ต้องลงจากเก้าอี้นายกฯ
แม้แต่กลุ่มนักศึกษาขาประจำที่สถาปนาตนเองเป็น"ม็อบราษฎร" ใช้จังหวะชี้ชะตา"8 ปีนายกฯ" นำโดย "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอ่านแถลงการณ์ ให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ลาออกจากตำแหน่งนายกฯในวันครบ"วาระ 8 ปี" 24 ส.ค.นี้ พร้อมจี้สภา ตัดอำนาจ สว.เลือกนายก
เช่นเดียวกับ "กลุ่มนักวิชาการ" รวมตัวกับสื่อมวลชน จัดกิจกรรมหยั่งเสียงประชาชน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรอยู่ต่อหรือพอแค่นี้ โดยจะมีการประมวลผลการลงคะแนน พร้อมกับแถลงข่าวในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค.65 ไปแล้ว ด้วยการอ้างเสียงส่วนใหญ่ เกือบสี่แสนคนที่เข้ามาร่วมโหวด้วยเสียงส่วนใหญ่กว่า 93.4 เปอร์เซนต์ ชี้ว่า "พล.อ.ประยุทธ์" ไม่ควรอยู่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ภายหลังวันที่ 24 ส.ค.นี้ต่อไป โดยกลุ่มเครือข่ายวิชาการ ระบุตอนท้ายว่า การหยั่งเสียงโหวตครั้งนี้ ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นแบบประชาธิปไตยทางตรง อย่างสันติ
หากเอ็กซเรย์ไปยังบรรดาแกนนำที่ออกตัวมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ล้วนเป็นบุคคลที่มีคดีติดตัว บางรายยังไม่มีโอกาสที่จะกลับมาเล่นการเมืองในช่วงเวลานี้ได้ อันสืบเนื่องจากคำพิพากษา เช่นเดียวกับแกนนำกลุ่มนักศึกษาที่อยู่ในเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหว หากทำผิดเงื่อนไขซ้ำก็คงทราบดีว่าต้องถูกถอนประกัน และต้องเข้าเรือนจำกันอีกรอบ
ฉะนั้นแล้ว การประเมินว่า การออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งนี้หรือจะกระทำต่อเนื่องตามที่กลุ่มประกาศไว้ จะนำไปสู่ความรุนแรงอะไรหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่กลุ่มเคลื่อนไหวประเมินตนเองไว้แล้วว่า ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ต้องยึดหลักสุขุมคัมภีรภาพ
เพราะสุดท้าย ไม่ว่าศาลรธน.จะวินิจฉัยออกมาทางใด ปลายทางตอนนี้ของเหล่านักการเมืองมุ่งสู่ถนนเลือกตั้ง จึงไม่ปรารถนาที่จะให้เกิดความวุ่นวายสร้างความรุนแรง สิ่งที่ทำได้คือการกดดันทำลายความเชื่อมั่นของผู้กุมอำนาจรัฐให้มากที่สุดก่อนลงเลือกตั้งเท่านั้นเอง
เช่นเดียวกับ ฝ่ายกุมอำนาจรัฐ รอจับจังหวะของกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว หากมีการล้ำเส้นนอกกรอบกติกากฎหมาย นอกเหนือจากการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตยปกติ ย่อมส่งผลร้ายต่อผู้กระทำ
จึงไม่แปลกที่ เพจศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี-PMOC ได้ชี้แจงถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับ"วาระ 8 ปี"ตามที่นักข่าวได้ถาม
โดยระบุว่า เพราะนายกฯ ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า อำนาจทุกอย่างเป็นของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ฉะนั้นต้องเคารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักการและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นเดียวกัน เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้และไม่เกิดความวุ่นวาย
ยึดหลัก ใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว ใครล้ำเส้นก่อความวุ่นวายก่อน ฝ่ายนั้นย่อมเสียเปรียบ