svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เทคโนโลยี

จะเกิดอะไรถ้า Microsoft ตั้ง Data Center ที่ไทย? เราพร้อมหรือยัง?

สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ได้ประกาศว่า ทางบริษัทมีแนวคิดที่จะมาลงทุนสร้าง Data Center ในประเทศไทย งานนี้จะเป็นไปได้จริงแค่ไหน? ประเทศไทยจะได้อะไร? และเราพร้อมหรือยัง?

เมื่อไม่นานมานี้มีอีกหนึ่งบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ประกาศวางแผนว่าจะเข้ามาเปิด Data Center ในประเทศไทย ตามหลังจาก Google, Amazon, และ Cloudflare หรือการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้เข้ามาลงทุนกับประเทศไทย มันจะทำให้เราเป็น Digital Hub ที่สำคัญของเอเชียเราได้หรือไม่ วันนี้เรามาลองดูไปพร้อม ๆ กัน

จะเกิดอะไรถ้า Microsoft ตั้ง Data Center ที่ไทย? เราพร้อมหรือยัง?

Data Center คืออะไร?

เวลาเราใช้งานบริการต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต หรือเราเก็บข้อมูลบนระบบ Cloud ต่าง ๆ เรามักจะโดนสอนมาเสมอว่า Cloud ก็เป็นเหมือนก้อนเมฆที่ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้หมด แต่เรื่องจริงไม่ได้เป็นดั่งเวทมนตร์แบบที่เราเอาข้อมูลขึ้นไปอยู่บนก้อนเมฆจริงๆ เพราะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ ให้บริการและจัดเก็บข้อมูลต่างๆ สถานที่ที่มีไว้เพื่อการนี้เรียกว่า Data Center

หน้าตาของ Data Center ไม่ได้เตะตาถึงขนาดที่นั่งรถผ่านและจะสังเกตเห็นได้ทันที เพราะโดยะส่วนใหญ่แล้ว Data Center มักจะอยู่ในตึกหรือโกดังขนาดใหญ่ ภายในนั้นจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่ทำงานและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ตึก JasTel ที่อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บางคนขับรถผ่านอาจจะนึกว่าเป็นแค่ตึกสำนักงานเท่านั้น แต่ภายในนั้นมีระบบคอมพิวเตอร์คอยให้บริการหล่อเลี้ยงบริการทั้งในและนอกประเทศเราอยู่หลายเจ้า
 

อีกตัวอย่างตั้งอยู่ภายในเมืองทองธานี ใช่แล้วครับ สถานที่จัดงานประชุมขนาดใหญ่หรือกระทั่งคอนเสิร์ตที่หลายคนอาจจะเคยได้เข้าไปรับชมมาแล้วไม่มากก็น้อยแน่นอน ภายในนั้นมี Data Center ของ True ให้บริการอยู่ด้วย ภายนอกที่ดูจะเป็นตึกธรรมดา แต่ภายนั้นต้องบอกเลยว่า ทันสมัยมากๆ มีระบบรักษาความปลอดภัยในระดับสูง รองรับจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์มหาศาลและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่

จะเกิดอะไรถ้า Microsoft ตั้ง Data Center ที่ไทย? เราพร้อมหรือยัง?

โดย Data Center ส่วนใหญ่ในประเทศไทยเรามักจะให้บริการ Co-location หรือบริการให้เช่าพื้นที่เพื่อนำระบบคอมพิวเตอร์ไปวาง โดยทาง Data Center จะจัดเตรียมระบบไฟฟ้า, ระบบระบายความร้อน, ระบบเครือข่ายสำหรับเชื่อมต่อออกอินเทอร์เน็ต, และระบบรักษาความปลอดภัยไว้ให้ เพื่อให้ผู้เช่าไม่ต้องลงทุนสร้าง Data Center ด้วยตัวเอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งการก่อสร้าง และการขอใบรับรองมาตรฐานที่เข้มงวดมากๆ กระทั่งหลังจากสร้างแล้ว ค่าดูแลรักษาก็สูงด้วยเช่นกัน

แต่สำหรับองค์กรบางเจ้า ที่มีขนาดใหญ่มากๆ การสร้าง Data Center ของตัวเองใช้งานเองก็มีเช่นกัน เช่น องค์กรขนาดใหญ่ที่ให้บริการด้าน Cloud อย่าง Microsoft, Google, และ Amazon ที่จะมี Data Center ของตัวเองตั้งอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานระบบ Cloud ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
 

การมี Data Center ในประเทศมีประโยชน์อย่างไร?

การมี Data Center ขนาดใหญ่ รวมไปถึงการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่นั้นมีประโยชน์มหาศาลกับประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ

ประการแรก คือ ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากธุรกิจในปัจจุบันพึ่งพาการใช้งาน Cloud และอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ หรือในบางบริษัทเป็นแกนหลักในการทำงานเลยทีเดียว การที่องค์กรเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการได้ดีขึ้นย่อมเป็นเหมือนปุ๋ยที่ทำให้เติบโตได้ดีขึ้น

ประการที่สอง คือ การดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ ประเทศไหนที่มี Data Center ขนาดใหญ่ตั้งอยู่จะส่งผลให้การเข้าถึงข้อมูลและการให้บริการทำได้ราบรื่นมากขึ้น ตลอดจนเป็นที่หมายปองของบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะบริษัทที่พึ่งพาการทำงานของระบบดิจิทัลและการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ นำไปสู่การหมุนเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศมหาศาล

ประการที่สาม คือ การส่งเสริมความมั่นคงทางระบบสารสนเทศ เมื่อมี Data Center ขนาดใหญ่ที่มีการดูแลรักษาทั้งในเรื่องประสิทธิภาพของระบบและความปลอดภัยสูง องค์กรต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศก็มีแนวโน้มที่จะย้ายไปทำงานอยู่บริการ Cloud หรือ Data Center ที่มีความปลอดภัยสูงและได้รับการรับรองมาตรฐานมากกว่าการดูแลเอง ด้วยเหตุผลที่บางองค์กรอาจจะขาดความรู้ความสามารถและเงินทุนในการออกแบบระบบความมั่นคงและปลอดภัยให้กับข้อมูลเทียบเท่ากับ Data Center ได้

จะเกิดอะไรถ้า Microsoft ตั้ง Data Center ที่ไทย? เราพร้อมหรือยัง?

 

การจะสร้าง Data Center ได้ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

โดยหลักการแล้ว เราสามารถสร้าง Data Center ที่ไหนก็ได้หากมีระบบไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ แต่การสร้าง Data Center ที่ดีนั้นประกอบด้วยเงื่อนไขที่มากกว่านั้น การทำให้ Data Center สามารถให้บริการได้ตลอดเวลา มี Downtime น้อยที่สุด และทำให้ข้อมูลที่อยู่ภายในปลอดภัยที่สุดประกอบไปด้วยหลายหลายปัจจัย

ปัจจัยแรก คือ ทำเลที่ตั้งจำเป็นต้องตั้งอยู่ในบริเวณที่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยที่สุด เพราะหากเกิดเหตุขึ้นอาจจะทำให้ Data Center นั้นเป็นไม่สามารถให้บริการเป็นระยะเวลานานได้ และยังต้องสามารถรองรับการขยายตัวของระบบคอมพิวเตอร์ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าให้จะดีที่สุด พื้นที่นั้นควรเดินทางและเข้าถึงได้ง่าย

เมื่อมีพื้นที่แล้ว ปัจจัยที่ 2 คือ ระบบไฟฟ้า ที่จะต้องสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เสถียร มีโอกาสไฟดับต่ำ รองรับการใช้ไฟฟ้ามหาศาล และยังต้องมีระบบสำรองที่ใช้งานในยามฉุกเฉินได้ เช่นใน Data Center หลายๆ แห่งดำเนินการด้วยแหล่งจ่ายไฟจากหลายแหล่ง เพื่อป้องกันในกรณีที่บางเส้นถูกปิดซ่อม เส้นที่เหลือสามารถทำงานเลี้ยงระบบได้ปกติ และในกรณีฉุกเฉินยังมีเครื่องปั่นไฟดีเซลตั้งอยู่จำนวนมาก รวมกับระบบที่สามารถสลับไปใช้ระบบไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟได้โดยตัวระบบไม่มีการสะดุด รวมไปถึงต้องมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจว่า ทั้งระบบไฟฟ้าหลักและระบบไฟฟ้าสำรองจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา

ปัจจัยที่ 3 คือ ระบบเครือข่าย เนื่องจาก Data Center จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ดังนั้น ระบบเครือข่ายจึงเป็นอีกส่วนสำคัญที่ขาดตกบกพร่องไม่ได้เลย และยังจำเป็นต้องรองรับในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการรองรับการเชื่อมต่อสำรองหลายๆ เส้น นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องมีศูนย์เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติ และจัดการเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น ปกติเราจะเรียกศูนย์นี้ว่า Network Operation Center (NOC) ที่จะมีคนเฝ้าอยู่ตลอดแบบ 24/7 เผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น จะได้เข้าแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ปัจจัยที่ 4 คือ จำนวนผู้ใช้งาน เพราะการก่อสร้างและจัดตั้ง Data Center นั้นใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นจะต้องมีความมั่นใจว่า พื้นที่ที่ลงทุนไปจะมีผู้ใช้มากเพียงพอที่จะมีศักยภาพในการทำกำไรได้นั่นเอง

จะเกิดอะไรถ้า Microsoft ตั้ง Data Center ที่ไทย? เราพร้อมหรือยัง?

 

ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนสำหรับธุรกิจ Data Center?

ทำเลที่ตั้งของประเทศไทยของเราไม่ได้อยู่ตามแนวที่เกิดแผ่นดินไหว ภัยพิบัติที่เกิดกับประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับ Data Center มีเพียงแค่น้ำท่วมเท่านั้น ซึ่งหากมีการวางระบบป้องกันเป็นอย่างดี และเลือกพื้นที่ที่มีโอกาสเจอน้ำท่วมต่ำ จะทำให้ตัดปัญหาเรื่องภัยพิบัติไปได้ และในบางจังหวัดเอง ราคาที่ดินก็อาจจะไม่ได้สูงมาก ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนซื้อพื้นที่เผื่อไว้สำหรับการขยายในอนาคตได้ง่าย

สำหรับระบบไฟฟ้าอ้างอิงจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในปี 2566 นี้ประเทศเรายังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศอยู่ที่ 25.8% ลดลงจากปีที่แล้วที่ 30.9% หากแนวโน้มยังอยู่ในลักษณะนี้ การจัดตั้ง Data Center ที่ใช้กำลังไฟฟ้าสูงตลอดเวลา โดยเฉพาะ Data Center สมัยใหม่ๆ ที่เริ่มมีการให้บริการการใช้งาน AI เข้ามา ยิ่งมีความต้องการพลังงานสูงขึ้น อาจจะทำให้ประเทศเราจำเป็นต้องมีการจัดหาแหล่งพลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กว่า 60% ยังพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สธรรมชาติ ที่อาจจะมีการผันผวนของราคาส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักของ Data Center มีความผันผวนได้เช่นกัน

ในกรณีระบบเครือข่าย ประเทศไทยเรามีระบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการสื่อสารที่ดีเป็นพื้นฐาน มีการเชื่อมต่อระบบความเร็วสูงผ่านใยแก้วนำแสง (Fibre Optics) และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Network) ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงหัวเมืองใหญ่ๆ ของประเทศทั้งหมด จากผลสำรวจของผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตอย่าง Ookla พบว่าประเทศไทยของเรามีคุณภาพการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Fixed Broadband และ Mobile อยู่ในอันดับ 10 และ 64 ตามลำดับ เราสามารถพูดได้เลยว่า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของประเทศเราค่อนข้างอยู่ในระดับที่ดีมาก และฝั่งของการเชื่อมต่อออกนอกประเทศเอง ประเทศเรามีระบบเคเบิลสื่อสารวิ่งไปในหลายๆ ประเทศ ไกลถึงอีกฟากของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการเชื่อมต่อโดยตรงไปที่ผู้ให้บริการขนาดใหญ่จำนวนมากเช่น Microsoft, Google, และ Netflix

จำนวนผู้ใช้ในประเทศไทยเองก็เป็นไปในทางสอดคล้อง หากดูจากอัตราส่วนของประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเอง ที่มีจำนวนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการเติบโตของมูลค่าตลาดในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และใช้งาน Data Center เช่น ธุรกิจสื่อออนไลน์ และ ธุรกิจ E-commerce ที่สูงขึ้น นำไปสู่ความต้องการ Data Center สำหรับให้บริการสูงขึ้นเช่นกัน

จากทั้ง 4 ประการทำให้เราจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยของเราค่อนข้างมีความพร้อมทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และจำนวนผู้ใช้ จนทำให้บริษัทผู้ให้บริการ Cloud Computing ขนาดใหญ่ มีแผนเข้ามาลงทุนการก่อสร้าง Data Center ในประเทศไทย แต่สิ่งที่ยังขาดจริงๆ น่าจะเป็น เรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องนโยบายการลดภาษีหรือกลไกต่างๆ ที่สามารถดึงดูดบริษัทอื่นๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ดังนั้นเราอาจจะต้องจับตามองกันต่อไปว่า ธุรกิจข้อมูลอันเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของโลกยุคใหม่ในประเทศของเราจะเป็นอย่างไรต่อไป