svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

Sound and the City เราต่างไขว่คว้าความเงียบ ในเมืองที่เสียงดังเกินไป

02 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในเมืองเช่นกรุงเทพฯ ถ้าลองหยุดฟังเสียงรอบๆ ดูสักพัก จะพบว่าน้อยครั้งที่เราจะได้ยินเสียงของความเงียบ เมืองใหญ่มักรายล้อมไปด้วยเสียง ไม่ว่าจะเสียงแตรจากรถบนถนน เสียงไซต์ก่อสร้าง หรือเสียงคอนเสิร์ตที่ดังอยู่ไกลๆ เสียงเหล่านี้ดังจนบางครั้งเราจากมันไปให้ไกลๆ

เวลาเรานึกภาพเมืองและการใช้ชีวิตในเมือง ภาพของเมืองมักจะมากับเสียงอันอึกทึก บางทีก็เป็นเสียงหึ่งๆ จากตึกอาคาร เสียงโหวกเหวกจากข้างบ้าน เสียงคนเจียกระเบื้องในเช้าวันหยุด เสียงแตรรถยนตร์จากถนน มลพิษทางเสียงจึงเป็นอีกหนึ่งสุดยอดปัญหาของการใช้ชีวิต เป็นเรื่องเล็กๆ ที่หลายครั้งไม่เล็กและทำเอาใครหลายคนประสาทจะกินได้ง่ายๆ

Sound and the City เราต่างไขว่คว้าความเงียบ ในเมืองที่เสียงดังเกินไป

เมื่อเราเริ่มพบว่าเสียงกลายเป็นมลพิษประเภทหนึ่ง และเสียงกลายเป็นสิ่งธรรมดาที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้คน หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกก็เริ่มกลับมาตั้งใจฟังเสียงเมืองของตัวเองและพยายามจัดการและมอบความเงียบสงบให้กับผู้คน เสียงในเมืองส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต ที่สำคัญคือการเผชิญกับมลพิษทางเสียงสัมพันธ์กับประเด็นความเหลื่อมล้ำ ยิ่งที่อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยก็มีแนวโน้มจะเจอกับเสียงดังมากขึ้นเท่านั้น
 

คอลัมน์ ‘CuriousCity’ ครั้งนี้จึงชวนสำรวจปัญหาของมลพิษทางเสียง และชวนมองเห็นปัญหาของเจ้าเสียงที่มองไม่เห็น จากเสียงดังหนวกหูจนถึงเสียงที่เราสัมผัสอย่างแปลกประหลาด ในความเข้าใจเรื่องเสียงและมลพิษของพวกมัน เมืองจึงเริ่มร่วมรับมือและพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องเสียงรบกวน จากการสร้างแผนที่เสียงและแนวคิดการรักษาพื้นที่เงียบสงบของเมืองไว้ อะไรคือเสียงรบกวนและอะไรคือสิ่งที่จะช่วยเราลดความน่ารำคาญของเสียงเหล่านั้น

 

เสียงดังที่รบกวนหัวใจ

คำว่ามลพิษทางเสียง ตัวมันเองก็มีความซับซ้อนอยู่บ้าง โดยทั่วไปเสียงที่เราจะรู้สึกรำคาญมักจะเป็นเสียงที่มีความดัง หรือดังต่อเนื่องจนรบกวนความรู้สึกและการใช้ชีวิตโดยเฉพาะการทำงานหรือนอนหลับของเรา ส่วนใหญ่เราจะวัดความเสียงด้วยระดับเดซิเบล องค์การอนามัยโลกใช้เกณฑ์ที่ 55 เดซิเบลในเวลากลางวันและ 40 เดซิเบลในเวลากลางคืน การเจอกับมลพิษทางเสียงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เสียงรบกวนที่ 50 เดซิเบลขึ้นไปจะเริ่มนับเป็นมลพิษและเริ่มกระทบกับสุขภาพ

Sound and the City เราต่างไขว่คว้าความเงียบ ในเมืองที่เสียงดังเกินไป
 

เกณฑ์ของเสียง 50 เดซิเบลดังประมาณไหน ระดับเสียงโดยเฉลี่ยจากสิ่งที่เราคุ้นเคยที่ต่ำกว่า 50 เดซิเบลเช่นเสียงตู้เย็นทำงานมักจะอยู่ที่ราว 40 เดซิเบล เสียงใบไม้ไหวอยู่ที่ราว 20 เดซิเบล จุดที่เราอาจจะเริ่มได้ยินและยังนับเป็นเสียงที่ไม่รบกวน (white noise) เช่น เสียงฝนตกพรำๆ ที่อาจมีระดับเสียงราว 50 เดซิเบล เกินขึ้นไปกว่านั้นซึ่งเราเริ่มได้ยิน เช่น เสียงบทสนทนาอยู่ที่ 60 เดซิเบล เสียงการจราจรอยู่ที่ 70 เดซิเบลซึ่งเราจะเริ่มรู้สึกว่าเสียงดัง ซึ่งเสียงอื่นๆ ที่เกินก็เช่นเสียงรถบรรทุก (80 เดซิเบล) หรือเสียงไดร์เป่าผม (90 เดซิเบล)

การเจอกับมลพิษทางเสียงที่ดังและยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกับสุขภาพโดยตรง มีงานศึกษารายงานว่าการเจอกับมลพิษทางเสียงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 เดซิเบล เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคเกี่ยวกับหัวใจราว 8% ในอีกการศึกษาขนาดใหญ่ที่เป็ฯข้อมูลสุขภาพของประชากรราว 5 แสนรายในแวนคูเวอร์ให้ผลสอดคล้องกันคือ ทุกๆ 10 เดซิเบล มีอัตราความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือด 9%

สำหรับการเจอกับมลพิษทางเสียงในตอนกลางคืนมีรายงานว่าเสียงจากท้องถนนที่สูงเกิน 65 เดซิเบลจะเริ่มส่งผลกระทบและผู้คนเริ่มรู้สึกว่ารบกวนการนอน ในบางการศึกษาพบอีกว่าประชากรราว 15% ของคนเมืองเผชิญกับมลพิษทางเสียงในระดับดังกล่าว

ความน่าสนใจของมลพิษทางเสียงคือการที่พวกมันเป็นมลพิษที่แผ่อาณาบริเวณ เป็นมลพิษที่ผู้คนแทบจะเจอกันโดยทั่วไป ในการสำรวจพื้นที่เสียงเช่นการศึกษาในโทรอนโตพบว่า พื้นที่เมืองที่มีความเงียบ คือมีเสียงเดซิเบลที่ต่ำว่าค่ามาตราฐานขององค์การอนามัยโลกนั้น แทบจะหาไม่ได้ในเขตเมืองโทรอนโตเลย

Sound and the City เราต่างไขว่คว้าความเงียบ ในเมืองที่เสียงดังเกินไป

เสียงดังเบาๆ ที่เรารับรู้ได้

นอกจากเสียงที่ดังจนหูของเราได้ยินแล้ว เมืองยังประกอบด้วยเสียงอีกประเภทที่เรียกว่าเป็นเสียงความถี่ต่ำหรือ low frequency sounds ซึ่งเจ้าเสียงความถี่ต่ำนี้มีลักษณะเป็นคลื่นเสียงที่เราอาจรับรู้ไม่ได้ด้วยหู แต่เป็นเสียงที่สั่นสะเทือนและรับรู้ได้ในความรู้สึก นักวิชาการชื่อ เอริกา วอร์กเกอร์ (Erica Walker) เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้สนใจถึงผลกระทบของเสียงในเมือง เธอเป็นผู้ผลักดันและทำแผนที่เสียงรบกวนของแถบบอสตันของนิวยอร์ก

สิ่งที่เอริกาชี้ให้เห็นนอกจากผลกระทบของเสียงและความจำเป็นในการทำความเข้าใจของเสียงรบกวนเมืองผ่านแผนที่เสียง (city soundscape) นอกจากความคับข้องใจจากมลพิษทางเสียงแล้ว เธอยังพูดถึงเสียงความถี่ต่ำเช่นความรู้สึกสั่นไหวในตัวของเราเมื่อรถเมล์วิ่งผ่านไป หรือรายงานของผู้คนที่ใช้ชีวิตใกล้กับทางด่วนหรือท่าอากาศยาน เสียงพวกเขารู้สึกได้เป็นเสียงที่พวกเขารับรู้ผ่านความรู้สึก

แผนที่เสียงเมืองบอสตัน โดย เอริกา วอร์กเกอร์. ภาพจาก Noise and the City

ในการศึกษาของเธอพบว่าเสียงที่ไม่ได้ยินโดยตรงนี้มีความยากและซับซ้อนขึ้น ทะลุทะลวงและจับสังเกตยาก ในขณะเดียวกันในการทดลองของเธอพบว่าเสียงเหล่านี้ส่งผลกับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ แปลว่าเสียงเหล่านี้กำลังทำให้ร่ายกายของตกอยู่ในภาวะเครียด

 

ความพยายามของเมืองเพื่อรักษาความเงียบสงบ

ประเด็นเรื่องเสียงในฐานะปัญหาต่อสุขภาพของผู้คนเป็นสิ่งที่เมืองรับรู้และจัดการกันมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 หนึ่งในเครือข่ายสำคัญคือเครือข่ายเมืองช้าหรือ Slow City เริ่มต้นที่เมืองในอิตาลีที่ปัจจุบันมีเมืองในเครือข่ายราว 260 แห่ง นอกจากเครือข่ายเมืองช้าที่พยายามปรับเปลี่ยนเมืองให้เงียบลง โดยเมืองส่วนใหญ่มักจะเริ่มด้วยการศึกษาภูมิทัศน์เสียงและพยายามรักษาพื้นที่เงียบสงบของตัวเองไว้ผ่านการทำแผนที่เสียง

Sound and the City เราต่างไขว่คว้าความเงียบ ในเมืองที่เสียงดังเกินไป

ส่วนใหญ่พื้นที่เงียบสงบของเมืองมักเป็นพื้นที่สวนหรือสวนสาธารณะ บางจุดอาจเป็นพื้นที่ระหว่างอาคาร พื้นที่สันทนาการอื่นๆ ในการรักษาพื้นที่เงียบสงบสัมพันธ์กับหลายกลยุทธ์และหลายนโยบาย เช่นการใช้แนวต้นไม้ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อกรองเสียงโดยเฉพาะ เสียงสั่นไหวเสียดสีของใบไม้และความหนาแน่นของพุ่มไม้ช่วยลดความดังของเสียงจากถนนหรือเสียงจากเมืองรอบๆ สวนได้ การออกแบบที่เน้นเรื่องเสียงจึงมีรายละเอียดอีกหลายมิติเช่นการการใช้เสียงน้ำ การมีแนวพืชพรรณแล้วต่อด้วยน้ำตกหรือน้ำพุ เสียงของธรรมชาติเหล่านี้ประกอบกับเสียงจากระบบนิเวศที่เกิดขึ้นเช่นเสียงนกและแมลง ก็จะเป็นองค์ประกอบที่สร้างความสงบและตัดเสียงรบกวนของเมืองออกไปได้

นอกจากการออกแบบการกรองเสียงด้วยธรรมชาติแล้ว ในภาพที่ใหญ่ขึ้นเช่นในแผนที่เสียง หลายเมืองอาจพบว่ามีย่านสำคัญ เช่น ย่านพักอาศัย ย่านกลางเมือง หรือย่านเมืองเก่าที่มีความโรแมนติกในความเงียบ การรักษาความเงียบนอกจากจะเน้นการกระจายตัวของแนวกั้นเสียงหรือพื้นที่เงียบสงบต่างๆ แล้ว การควบคุมปริมาณการจราจร การหันเหการจราจรไปจนถึงบางเมืองกำหนดโซนไร้รถยนต์ก็นับเป็นอีกวิธีที่เมืองจะรักษาบรรยากาศและความเงียบของเมืองซึ่งส่วนใหญ่มาจากรถยนต์และท้องถนนเอาไว้ นอกจากย่านเพื่อการเดินแล้ว ย่านที่เปราะบางอื่นๆ ก็อาจพิจารณาจัดการเสียงและรักษาความเงียบสงบเพิ่มเติมได้ เช่น เขตเมืองที่มีโรงเรียน ย่านพักอาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง

Sound and the City เราต่างไขว่คว้าความเงียบ ในเมืองที่เสียงดังเกินไป

สุดท้ายมลพิษทางเสียงเป็นอีกมลพิษของเมืองใหญ่ ซึ่งนอกเมืองใหญ่เองก็อาจเจอกับมลพิษของเสียงความถี่ต่ำจากพื้นที่อุตสาหกรรม แหล่งผลิตพลังงานหรือท่าอากาศยาน ในภาพรวมมลพิษทางเสียงจึงเป็นเหมือนมลพิษอื่นๆ คือตัวมันเองส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ บั่นทอนคุณภาพชีวิต เพิ่มภาระรายจ่ายและเพิ่มอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตาย 

ตัวมลพิษทางเสียงสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำ ในงานศึกษาที่เกี่ยวกับพื้นที่เมืองมักพบว่าพื้นที่ย่านหรือบ้านพักอาศัยที่ร่ำรวยขึ้นมักเข้าถึงความเงียบสงบได้ ในบางครั้งเราในฐานะคนเมืองเองก็สัมผัสได้ว่าความเงียบเป็นความหรูหราอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่การที่เราจะมีชีวิตที่ดี เติบโตอย่างแข็งแรง ทำงาน มีสมาธิ นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ การมีพื้นที่เงียบๆ ย่อมเป็นเงื่อนไขลำดับต้นๆ ในการมีชีวิตที่ดีของเราทุกคน

 


ข้อมูลอ้างอิง

logoline