svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

All of Us Strangers เราอาจผ่านอดีตไปได้ แต่อดีตมิอาจผ่านพ้นเรา

30 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

All of Us Strangers (2023) เป็นหนังดัดแปลงจากนิยายญี่ปุ่นชื่อ Strangers (1987) เขียนโดย ไทจิ ยามาดะ ตัวเรื่องเล่าถึงนักเขียนเกย์ชื่อ อดัม กับการได้พบชายหนุ่มแปลกหน้า และพ่อแม่ของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว

เป็นเรื่องน่าบังเอิญว่าปี 2023 มีภาพยนตร์ LGBTQ (หรือระบุให้ชัดเจนคือเกี่ยวข้องกับเกย์) 2 เรื่องที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดี แต่พบชะตากรรมแบบเดียวกันในประเทศไทย นั่นคือไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ เรื่องแรกคือ Saltburn (2023, ดูได้ทาง Prime Video) ว่าด้วยความสัมพันธ์ของสองหนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด คนหนึ่งเป็นชนชั้นรากหญ้า ส่วนอีกคนมาจากตระกูลสูงศักดิ์ นอกจากบรรยากาศโฮโมอีโรติกสุดประหลาด ฉากจบชนอึ้ง หนังยังทำให้เพลง Murder on the Dancefloor (2001) ของ โซฟี เอลลิส-เบ็กซ์เตอร์ กลับมาฮิตทั่วโลกอีกครั้ง

ภาพจาก Searchlight Pictures

ส่วนอีกเรื่องคือ All of Us Strangers (2023) ซึ่งแต่เดิมมีโปรแกรมฉายแบบจำกัดที่โรง Doc Pub & Club ช่วงต้นเมษายน 2024 แม้ทางโรงจะดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน (ซื้อลิขสิทธิ์, ทำการโปรโมต, ส่งหนังไปจัดเรตติ้ง—ซึ่งทุกอย่างล้วนมีค่าใช้จ่าย) แต่อยู่ดีๆ ก็ต้องยกเลิกการฉายด้วยเหตุผลที่ไม่กระจ่างนักจากทางค่ายผู้ถือลิขสิทธิ์ (อ่านแถลงการณ์ของโรงที่นี่ facebook) และเมื่อมีประกาศว่าหนังจะสตรีมทาง Disney+ Hotstar เหล่านักดูหนังก็เข้าไปทัวร์ลงจนฉ่ำ (อ่านที่นี่ facebook) เพราะอนุมานได้ว่าค่ายอาจไม่อยากฉายโรง เพื่อให้หนังฉายทางสตรีมมิงแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ทำให้วาทกรรม “สตรีมมิงคือศัตรูของโรงหนัง” เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
 

โอเค พักเรื่องดราม่าแล้วขอกลับไปที่ตัวหนัง All of Us Strangers เป็นผลงานของ แอนดรูว์ เฮห์ ผู้กำกับชาวอังกฤษที่เปิดเผยว่าเป็นเกย์ ผลงานก่อนหน้าของเขาล้วนได้รับเสียงวิจาณ์เป็นบวก อาทิ  Weekend (2011) คู่เกย์ตัดสินใจสานต่อความสัมพันธ์แบบวันไนท์แสตนด์, 45 Years (2015) ชายหญิงที่แต่งงานอยู่กินกันมาค่อนชีวิต แต่ทุกอย่างเริ่มสั่นคลอนเมื่อพวกเขาได้รับข่าวเรื่องอดีตคนรักของฝ่ายชาย, และ Lean on Pete (2017) หนัง coming of age ว่าด้วยมิตรภาพของเด็กหนุ่มกับม้าแก่

ภาพจาก Searchlight Pictures

ส่วน All of Us Strangers เล่าถึง อดัม นักเขียนเกย์วัยกลางคนที่ได้พบเพื่อนบ้านหนุ่มลึกลับ และเมื่อเขาเดินทางกลับไปบ้านสมัยเด็ก เขาก็ได้พบกับพ่อแม่ตัวเอง ทั้งที่พวกเขาเสียชีวิตไปแล้วหลายสิบปี หนังดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Strangers (1987) ของ ไทจิ ยามาดะ (มีแปลไทยในชื่อ ‘คนแปลกหน้า’ โดยสำนักพิมพ์ J-BOOK)
 

เฮห์ให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งว่า All of Us Strangers ถือเป็นหนังส่วนตัวที่สุดเท่าที่เขาเคยทำมา มันอิงจากความยากลำบากของการเป็นเกย์ในยุค 80 รวมถึงการอธิบายเพศสภาพต่อพ่อแม่ แต่แทนที่เฮห์จะเอาชีวิตตัวเองมาขึ้นจอแบบตรงๆ เขากลับบอกเล่าผ่านการดัดแปลงนิยาย Strangers แบบไม่ได้ยึดติดกับต้นฉบับนัก ผู้เขียนคิดว่าเฮห์ (ซึ่งเขียนบทเอง) ดัดแปลงอย่างชาญฉลาดใน 3 แง่ด้วยกัน

ภาพจาก Searchlight Pictures

หนึ่ง—นิยายมีฉากหลังเป็นคอนโดในโตเกียวยุค 80s ส่วนฉบับหนังเป็นตึกสูงเมืองลอนดอนในโลกยุคร่วมสมัย (อย่างไรก็ดี หนังจงใจไม่ระบุเวลาอย่างชัดเจน)

สอง—ตัวเอกในนิยายเจอเพื่อนบ้านเป็นผู้หญิงลึกลับเซ็กซี่ ส่วนเพื่อนบ้านในฉบับหนังเป็นเกย์

สาม—นิยายมีบรรยากาศสยองขวัญ (horror) ชัดเจนในช่วงท้าย ส่วน All of Us Strangers เป็นหนังแฟนตาซีมากกว่าหนังผี เช่นว่า พ่อแม่ของพระเอกที่ดูเหมือนจะเป็นวิญญาณ หรือผี หรืออะไรก็แล้วแต่ กลับถูกนำเสนอเป็นมนุษย์สามัญปกติ

ภาพจาก Searchlight Pictures

ลักษณะแฟนตาซีนี้ยังมีผลต่อการแสดงของ แอนดรูว์ สก็อตต์ ผู้รับบทนำด้วย ในยามปกติ อดัมดูเป็นคนขี้อาย เก็บเนื้อเก็บตัว แต่สังเกตได้ว่าเวลาอยู่กับ(วิญญาณ)พ่อแม่ เขาจะทำตัวเด็กลง (เพราะพ่อแม่ตายตอนเขาอายุเพียง 12 ขวบ) ซึ่งการแสดงของสก็อตต์ก็ทำออกมาได้ละเอียดอ่อน ไม่ขัดเขิน ไม่ว่าจะฉากที่อดัมขอนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ หรือพอรู้ทันว่าพ่อกำลังจะพูดประโยคที่เขาไม่อยากได้ยิน อดัมก็รีบเอามือปิดปากพ่อทันที ซึ่งมีเบื้องหลังว่าฉากนี้ไม่มีบท แต่สก็อตต์ด้นสด และทุกคนเห็นตรงกันว่ามันเวิร์ก

ภาพจาก Searchlight Pictures

อีกสิ่งสำคัญใน All of Us Strangers คือเพลงประกอบในหนัง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพลงของศิลปินอังกฤษยุค 80-90s ซึ่งแต่ละเพลงล้วนถูกเลือกมาอย่างมีความหมาย เช่น Always on My Mind (1988) ของ Pet Shop Boys ศิลปินดูโอ้ที่กล้าเปิดเผยว่าเป็นเกย์ ในยุคที่ชายรักชายยังไม่เป็นที่ยอมรับนัก, Death of a Party (1997) โดย Blur ที่เล่าถึงการแพร่ระบาดของเอดส์ในช่วงปลาย 80s ถึงต้น 90s แต่เพลงเอกของหนังคงหนีไม่พ้น The Power of Love (1984) ของวงซินธ์ป๊อป Frankie Goes to Hollywood (เป็นวงแรกๆ ที่สมาชิกประกาศตัวว่าเป็นเกย์ จนกลายเป็นไอคอนของกลุ่มเพศหลากหลาย) ซึ่งถูกใช้เป็นเพลงหลักของหนังทั้งเรื่อง จนกระทั่งฉากจบที่เพลงนี้ถูกใช้อย่างทรงพลังที่สุด 

ภาพจาก Searchlight Pictures

มีเพื่อนของผู้เขียนเห็นตัวอย่างหนังเรื่องนี้ดูลึกลับชอบกล เลยถามว่า “นี่คือหนังผีหรือเปล่า?” เอาเข้าจริงจะตอบว่าใช่ก็ได้ แต่ผีหรือวิญญาณใน All of Us Strangers ไม่ใช่ความสยองขวัญลี้ลับ แต่มันคือตัวแทนของอดีต และหัวใจสำคัญของหนังคือการ ‘ดีล’ กับอดีตอันน่าเจ็บปวดของตัวเอง เรื่องราวน่าเศร้าของมนุษยชาตินั้นถูกบอกเล่าผ่านภาพยนต์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ผู้เขียนคิดว่ายังมีความจำเป็นที่เรายังต้องมีหนังประเภทนี้ต่อไป ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความทรงจำ มีความรู้สึก และหนังเรื่อง Magnolia (1999) ยังมีประโยคเกี่ยวกับอดีตอันโด่งดังว่า “เราอาจผ่านอดีตไปได้ แต่อดีตมิอาจผ่านพ้นเรา” เช่นเดียวกับอดัมและเราทุกคนที่ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งนั้นให้ได้
 

logoline