ในปี 2558 มีกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์ Pantip เป็นที่พูดถึงเป็นวงกว้าง เนื้อหาเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่แม่ของเจ้าของกระทู้เคยประสบ นั่นคือปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นกับน้องสาวแท้ๆ ของเธอ กับเสียงชวนพิศวงที่ว่า “ธี่หยด” อันเป็นเสมือนใจกลางความวิปลาศของเรื่อง และในอีกหลายปีนับจากนั้น มันยังถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นตัวนิยายในชื่อ 'ธี่หยด...แว่วเสียงครวญคลั่ง' ที่ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ตามมาด้วยเวอร์ชั่นเสียงเล่าในรายการวิทยุชื่อดัง ซึ่งก็แน่นอนว่ายอดคนกดเข้าไปรับฟังนั้นทะลุหลักล้านในเวลาอันรวดเร็ว และล่าสุดที่ตัวเรื่องถูกดัดแปลงเป็นหนัง 'ธี่หยด' (2566) ที่เพิ่งทำสถิติเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดของปีและคว้ายอด 100 ล้านบาทในเวลาเพียงสองวัน
กล่าวโดยสรุป 'ธี่หยด' ปรากฏตัวผ่านมีเดียหลายแบบ และเรื่องเล่าชวนขนหัวลุกนี้ก็ประสบความสำเร็จในทุกช่องทางที่เป็นเรื่องเล่า ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แปลก โดยเฉพาะเมื่อพินิจว่า ตัวเรื่องของมันนั้นถูกจริตคนไทยอยู่ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะประเด็นความลี้ลับ ความสยดสยอง กลิ่นอายความเป็นชนบท ไปจนถึงความเป็นอื่นซึ่งไม่อาจเข้าใจได้อย่างศาสตร์คนเล่นของ
สำหรับธี่หยดเวอร์ชั่นภาพยนตร์กำกับโดย ทวีวัฒน์ วันทา คนทำหนังที่แจ้งเกิดจาก ขุนกระบี่ ผีระบาด (2547) หนังซอมบี้เรื่องแรกของไทย ว่าด้วยสถานการณ์สุดเฮี้ยนเมื่อมนุษยชาติถูกคุกคามด้วยไวรัสประหลาด (รับกับเหตุการณ์จริงในช่วงนั้นเมื่อไวรัสซาร์สระบาดใหญ่ในแถบอาเซียน โดยหนังมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า SARS Wars) ยังผลให้คนที่ติดเชื้อกลายเป็นซอมบี้ กลุ่มคนที่ยังเหลืออยู่จึงต้องกัดฟันสู้กับผีดิบยิบตาเพื่อมีชีวิตรอดต่อไปให้ได้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่หนังเฮอร์เรอร์เขย่าขวัญหรือหนังผีในสามัญสำนึกของคนทั่วไป แต่เป็นหนังเฮอร์เรอร์แอ็กชั่นซึ่งเต็มไปด้วยคนไล่เอาดาบจามหัวผีดิบ และหากมองจากมุมนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ ธี่หยด หนังลำดับล่าสุดของทวีวัฒน์จะมอบน้ำเสียงและรสชาติต่างจากหนังผีส่วนใหญ่ด้วยการใช้ไวยากรณ์แบบเดียวกันกับหนังแอ็กชั่น
หนังจับจ้องไปยังเหตุการณ์ชวนขนหัวลุกที่เกิดขึ้นในครอบครัวชาวเกษตรกรครอบครัวหนึ่ง เล่าผ่านสายตาของ หยาด (เดนิส เจลีลชา คัปปุน) พี่สาวคนโตของบ้าน เธอกับ แย้ม (รัตนวดี วงศ์ทอง) น้องสาวคนรองเห็นหญิงสวมชุดดำคนหนึ่งส่งยิ้มให้มาจากศาลโบราณแถวบ้านขณะเดินกลับจากโรงเรียน โดยไม่รู้เลยว่านั่นคือปฐมบทของความพินาศที่จะตามมานับจากนี้ เมื่อแย้มเริ่มมีอาการป่วยไข้น่าประหลาด แต่เมื่อไปพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการแล้วกลับไม่พบความผิดปกติในร่างกายแต่อย่างใด โดยเวลานี้ ยี่ (นีน่า—ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) น้องสาวคนเล็กเริ่มหวาดกลัวที่จะนอนกับพี่แย้ม โดยเด็กหญิงยืนยันว่า เธอตื่นขึ้นมากลางดึกและพบว่าพี่สาวคนรองนั่งจ้องหน้าเธอพร้อมรอยยิ้มประหลาดอยู่
พร้อมกันนั้น ยักษ์ (ณเดชน์ คูกิมิยะ) พี่ชายคนโตของบ้านที่มีลักษณะห้าวหาญ ใจกว้าง และเปี่ยมอารมณ์ขันก็กลับมาจากในเมือง ท่ามกลางสายตาต่อต้านของ ยศ (กาจบัณฑิต ใจดี) น้องชายคนรองที่รู้สึกราวกับพี่ชายทอดทิ้งเขาไปให้อยู่ทำไร่กับพ่อผู้เข้มงวดและแสนไม่เป็นมิตร ขณะที่ ยอด (พีระกฤตย์ พชรบุณยเกียรติ) น้องชายคนเล็กดูไม่สนใจความบาดหมางระหว่างพี่ชายทั้งสองนัก และทั้งสามก็เป็นประจักษ์พยานเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวแย้มพร้อมๆ กันเมื่อเธอลุกออกมาเดินคนเดียวกลางดึก กับเรื่องเล่าจากหยาดที่ยิ่งทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่า มีบางสิ่งที่เหนือการควบคุมเกิดขึ้นกับตัวแย้มแน่นอน
การไล่หาต้นตอของความผิดปกตินั้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล ภายใต้การแนะนำของหมอผี ยักษ์ต้องออกเดินเท้าขึ้นไปหาหญิงชราที่ลือกันว่าเลี้ยงผีสางมากมายจนของเข้าตัวและดูสติไม่สมประดีนัก กระนั้นเมื่อไปถึงเขาก็ต้องพบกับภาพสยดสยองสุดขีดเมื่อยายเฒ่าทำร้ายตัวเองจนถึงแก่ความตาย และนี่คือหลักฐานที่บ่งบอกชัดว่า อะไรก็ตามที่สิงอยู่ในร่างหญิงแก่นั้น หา 'บ้าน' ใหม่ให้ตัวเองได้แล้ว และนั่นคือร่างของแย้ม น้องสาวของเขานั่นเอง
ความยากประการหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าหนังที่ดัดแปลงมาจากเรื่องเล่าที่มาจากสื่อรูปแบบอื่นต้องเผชิญ คือการดัดแปลงให้ไม่ห่างไปจากที่ผู้อ่าน (หรือผู้ฟัง) จินตนาการไว้นัก และนี่คือหนึ่งในข้อได้เปรียบของงานเขียนตลอดจนงานที่เล่าเรื่องด้วยเสียง กล่าวคือมันเต็มไปด้วยพื้นที่ที่ปล่อยให้จินตนาการของผู้รับสารทำงานได้เต็มที่ ยิ่งกับงานประเภทเฮอร์เรอร์ที่อาศัยภาพจินตนาการของแต่ละคนเป็นอาหารหลัก การดัดแปลงให้ออกมาเป็นงานภาพจึงยาก เพราะไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าจะทำอย่างไรให้ภาพที่ว่านั้นออกมาใกล้เคียงหรือชนะภาพในหัวของอีกฝ่าย โดยเฉพาะกับตัวต้นฉบับที่เต็มไปด้วยการบรรยายถึงอากัปกิริยาหลายอย่างของแย้ม เช่น รอยยิ้ม หรือประโยคพูดทิ้งท้ายของเธอที่โรงพยาบาล ผู้กำกับต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อหาทางชกให้ ‘เข้าเป้า’ มากที่สุด
อันที่จริง ว่ากันตลอดทั้งเรื่อง ทวีวัฒน์แทบไม่ได้ใช้ไวยากรณ์หรือจังหวะการเล่าเรื่องแบบหนังเฮอร์เรอร์สยองขวัญทั่วไปใช้ แม้จะมีการใช้ jump scare หรือฉากสะดุ้งแต่ก็เพื่อขับเน้นสถานการณ์ชวนเครียดเขม็งของตัวละครมากกว่าจะทำให้คนดูตกใจต่อการปรากฏตัวของสิ่งลี้ลับ (ลองนึกว่าถ้าหนังเรื่องนี้อยู่ภายใต้การกำกับของคนทำหนังคนอื่น เราน่าจะได้เห็นฉากผีปรากฏตัวอยู่ด้านหลังตัวละครไม่น้อยกว่าสามหรือสี่ครั้ง) และท่าทีของหนังเองก็ไม่ได้วางตัวเป็นหนังเฮอร์เรอร์เต็มตัวนัก กล่าวคือมันเป็นหนังที่ว่าด้วยคนพร้อมสู้กับผี เมื่อยักษ์ไล่ท้าตีท้าต่อยสิ่งลี้ลับตลอดทั้งเรื่อง (ที่ก็น่าเสียดายว่าเขาไม่ได้สาวหมัดใส่มันแม้แต่ครั้งเดียว เพราะวัดจากขนาดตัว ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่าไม่ว่าสิ่งนั้นจะลึกลับแค่ไหน ก็น่าจะถูกพี่ยักษ์ในร่างของณเดชน์ชกกระเด็นโดยง่าย)
มิหนำซ้ำ ทวีวัฒน์ยังใส่ฉากที่เขาถนัดอย่างฉากสยองต่างๆ ไม่ว่าจะเมื่อยายเฒ่าตัดสินใจกระโจนเข้าหาไม้ปลายแหลม ซึ่งหนังถ่ายทำฉากอันชวนสะอิดสะเอียนนี้อย่างโจ่งแจ้งราวกับเป็นหนัง body horror หรือเมื่อยักษ์เจอตัวละครแม่ (ร่างจำแลง) ในไร่ข้าวโพด เขาก็เห็นมันหลอกหลอนเป็นภาพชวนสยดสยองจนแทบเสียสติ ตลอดจนเมื่อบรรดาผีมาปรากฏตัวให้เหล่าคนเป็นเห็น กล้องก็จับจ้องไปยังตัวละครเหล่านั้นที่อยู่ในสภาพชวนสยองนี้เนิ่นนาน—อาจจะนานเสียยิ่งกว่าพินิจตัวสิ่งลี้ลับในร่างแย้มจริงๆ ด้วยซ้ำไป
มากกว่านี้ บรรยากาศของหนังยังชวนให้นึกถึงหนังธริลเลอร์ฝั่งอเมริกันอยู่ไม่น้อย ทั้งในแง่ที่ว่า ตัวละครชาวบ้านสวมกางเกงยีนถือปืนไล่ล่าคนร้ายกลางทุ่ง หรือจังหวะการเล่าเรื่องที่เขยิบไปจากหนังเฮอร์เรอร์เนิบๆ ไปสู่การเป็นหนังแอ็กชั่น รวมทั้งการที่ตัวละครวิ่งปะทะกับความลึกลับกลางไร่ข้าวโพดนั้นก็แสนจะเป็นท่าทีแบบหนังธริลเลอร์ ทั้งทวีวัฒน์ยังถ่ายทำฉากไร่ข้าวโพดนี้ได้อย่างหมดจด คนดูได้เห็นเวิ้งกว้างสุดลูกหูลูกตาของไร่ ขับเน้นความอ้างว้าง โดดเดี่ยวของตัวละครที่ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จักและทำความเข้าใจไม่ได้
ธี่หยดยังเป็นหนังที่ใช้ความเป็นชายของณเดชน์ได้คุ้มค่าเหลือเกิน กล่าวคือทั้งเรื่องเต็มไปด้วยฉากที่ตัวละครพี่ยักษ์แบกของ ถือปืน และถอดเสื้อเอาพร้าฟันกอไผ่ยักษ์ซึ่งกินระยะเวลาในหนังหลายนาที ขณะเดียวกัน ก็น่าสนใจที่ตัวละครหญิงในเรื่องแทบไม่มีบทบาทหรือแทบไม่มีเรี่ยวแรงต่อกรใดๆ กับผีร้ายได้เลย อย่างมากที่สุดคือการได้เห็นหยาดในฐานะพี่สาวคนโต ตะโกนด่าผีที่ปลอมมาเป็นน้องสาวของเธอเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักแสดงเกือบทุกชีวิตในหนังจะแสดงกันราวกับเล่นละครออกฉายทางโทรทัศน์อยู่ก็ตาม (ซึ่งไม่น่าแปลกอันใดเพราะโปรเจกต์นี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างบีอีซีเวิลด์ของช่องสามและเอ็ม สตูดิโอ) แต่หนังก็โหมกระพือบรรยากาศชวนขนหัวลุกของชนบทต่างจังหวัดได้หมดจด ความเปล่าเปลี่ยววังเวง เวิ้งไร่นาสุดสูงหูลูกตา และความเป็นอื่นที่ปรากฏตัวขึ้นอย่างการที่ยายเฒ่าซึ่งเป็นคนนอกหมู่บ้านเข้ามาพักอาศัย ที่ก็น่าสนใจว่าชาวบ้านรอบๆ นั้นมองเธอด้วยท่าทีแบบไหน หรือสภาพความเป็นหญิงที่มักตกเป็นเหยื่อหรือสถานะดึงดูดความพิศวงบางอย่างมาได้ง่าย
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ แน่แท้แล้วว่าหนังกำลังจะมีภาคต่อ และนี่ก็นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่อุตสาหกรรมหนังไทยกำลังจะมี 'จักรวาล' หนังหลากหลายฌ็อง (genre) เป็นของตัวเอง และด้วยลักษณะเช่นนี้ พร้อมกันกับที่ความสำเร็จด้านรายได้ของตัวหนัง ก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นหมุดหมายอันดีของวงการหนังไทยในปลายปีนี้