27 มีนาคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพ "นกทึดทือมลายู" พร้อมข้อความระบุว่า คมเข้ม เห็นแล้วได้แรงอก!! "นกทึดทือมลายู" ที่สวนพฤกษศาสตร์พนางตุง
นกทึดทือมลายู หรือทางภาคใต้เรียกว่า "นกพิทิดพิที" (Buffy fish owl) เป็นนักล่าเหยื่อชนิดหนึ่ง จำพวกนกเค้าแมว
นกทึดทือมลายูมีพฤติกรรมออกหาอาหารตอนกลางคืน ตอนกลางวันจะนอน แต่ทว่าตัวผู้ไม่นอนกลางวัน ก็เพราะว่าต้องคอยดูแลระแวดระวังภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเมีย ซึ่งกำลังฟักและกกไข่อยู่ในรัง
ในทุกๆ ปี นกชนิดนี้จะมาทำรังวางไข่ที่สวนพฤกษศาสตร์พนางตุง จังหวัดพัทลุง หลังช่วงฤดูฝนจนถึงช่วงฤดูร้อน นักดูนกหรือนักท่องเที่ยวสามารถดูนกได้บริเวณริมถนนเส้นทางมายังสำนักงานได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งสวนพฤกษศาสตร์ฯ เปิดบริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ 8.00-18.00 น.
ขอบคุณภาพ : สวนพฤกษศาสตร์พนางตุง จังหวัดพัทลุง
นักล่ายามราตรี
ข้อมูลจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความรู้เกี่ยวกับ "นกทึดทือมลายู" ไว้ว่า นกทึดทือพันธุ์มลายู เป็นนกประจำถิ่น มีชื่อเรียกได้หลายชื่อตามท้องถิ่น คือ นกทึดทือมลายู หรือ นกเค้าแมวมลายู หรือ นกฮูกมลายู ทางภาคใต้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นกพิทิดพิที จัดอยู่ในวงศ์ STRIGIDAE มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ketupa ketupu เป็น 1 ใน 19 ชนิดของนกตระกูลนกเค้าในประเทศไทย
นกทึดทือมลายู เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 49-50 เซนติเมตร ปีกสั้นกว่า 40 เซนติเมตร ดวงตาสีเหลืองจนถึงเหลืองแกมทอง มีขนเหนือคิ้วเป็นแผงยาวออกไปด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนขนบริเวณเหนือโคนปากเป็นสีขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลมีลายสีจางกระจาย ด้านล่างสีเนื้อแกมน้ำตาลเหลือง มีลายขีดสีดำ เมื่อหุบปีกจะเห็นลายแถบสีน้ำตาลจางสลับสีเข้มบริเวณปลายปีก ขาสีเขียว มีเล็บโค้งแหลม และมีปากงุ้มแหลม
พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ลงไปตลอดแหลมมลายูจนถึงประเทศอินโดนีเซีย เกาะชวา และหมู่เกาะซุนดา ในประเทศไทย มักพบอาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าพรุ และตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ขอบคุณภาพ : สวนพฤกษศาสตร์พนางตุง จังหวัดพัทลุง
นกทึดทือมลายู ชอบจับสัตว์ขนาดเล็กกินเป็นอาหาร เช่น ปลา กบ ปู ค้างคาว นกชนิดอื่น รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานเกือบทุกชนิด มักเกาะนอนตามต้นไม้ที่มีใบหนาทึบในป่าพรุเวลากลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืน
และมีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน ทำรังอยู่ในโพรงไม้ หรือใช้รังเก่าของนกอื่น ๆ เป็นรัง ออกไข่ครั้งละ 1-3 ฟอง ลักษณะไข่มีเปลือกสีขาวและทรงกลม ตัวผู้จะเป็นฝ่ายส่งเสียงร้องเรียกตัวเมีย
ความลี้ลับ ของมันมักจะเกิดขึ้น เนื่องจากการออกมาโชว์ตัวเฉพาะกลางคืนเท่านั้น โดยมีดวงตากลมโตหันจับจ้องไปข้างหน้า ส่วนหัวของมันสามารถหันไปได้รอบตัว หูของนกกลุ่มนี้ก็รับรู้เสียงได้ไวมากเป็นพิเศษ อีกทั้งบางชนิดมีการส่งเสียงร้องที่แหลมเล็ก หรือการคำรามขู่ที่น่าสะพรึงกลัว พวกมันมีขนปีกอ่อนนุ่ม ชอบขยับปีกบินได้เงียบเชียบไม่ให้เหยื่อรู้ตัว แถมยังดูน่ากลัวแฝงอยู่ด้วย นี้คือเหตุผลที่มันมักอยู่ในเรื่องราวแปลกๆ เหนือธรรมชาติเสมอ
นกทึดทือพันธุ์มลายู จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 The IUCN Red List of Threatened Species จัดอยู่ในกลุ่ม Least Concern (LC) : เป็นกังวลน้อยที่สุด ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถูกคุกคามและพบเห็นได้ทั่วไป
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สวนพฤกษศาสตร์พนางตุง จังหวัดพัทลุง, กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา)